นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อภิปรายโดยชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรกรณี ที่ส.ส. กังวลว่าพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท มีช่องว่างที่ทำให้ผู้ประกอบการนำเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นต่อ ว่า หากข้อมูลตามที่อภิปรายขอให้แจ้งข้อมูลต่อ ธปท. เพื่อรีบดำเนินการสอบสวน และหากผลความผิดจะมีมาตรการลงโทษสถาบันการเงิน และสามารถเรียกคืนเงินกู้ได้ เพราะถือว่าทำผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นายวิรไท ระบุด้วยว่าสำหรับการกำหนดเงื่อนไขการชำระดอกเบี้ยให้กับการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ถูกทักท้วงนั้น ข้อเท็จจริงคือ การดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่ต้องแบกรับความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่แน่นอน อีกทั้งสถาบันการเงินมีต้นทุนค่าประกอบการด้วย ขณะที่การปล่อยสินเชื่อที่ล่าช้านั้น เป็นเพราะสถาบันการเงินต้องมีขั้นตอนการพิจารณา และมาตรการการทำงานอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การพิจารณาต้องใช้ระยะเวลา อีกทั้งแต่ละสถาบันการเงินนั้นมีคำนิยามว่าด้วยเอสเอ็มอีแตกต่างกัน ทำให้ต้องใช้เวลาพิจารณาอนุมัติต่างกัน
สำหรับการปล่อยสินเชื่อ ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ปล่อยแล้ว 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ธปท. ไม่คาดหวังว่าการปล่อยซอฟท์โลนจะออกหมดทั้ง 4 แสนล้านบาท เพราะต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดที่สร้างผลกระทบด้วย แต่เจตนาสำคัญเพื่อช่วยเยียวยากลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ
"ช่วงระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาวะการเงินไม่แน่นอนสูง ซึ่งภาครัฐต้องเข้าร่วมค้ำประกันความเสียหาย ขณะเดียวกันต้องไม่สร้างภาระทางการคลังมากเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการทุกระดับต้องปรับตัวให้กับเข้าโลกวิถีใหม่ ไม่ใช่มุ่งใส่เงินเท่านั้น เพราะหากอนาคตไม่ปรับตัว และใช้เงินเป็นตัวนำ อาจทำให้มีมูลค่าหนี้สูงขึ้น และทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก" นายวิรไท กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :