ไม่พบผลการค้นหา
ชาวเมียนมาประท้วงหน้าสถานทูตไทย หลังพล.อ.ประยุทธ์ต้อนรับผู้แทนรัฐประหาร - วอนอาเซียนไม่รับรองรัฐบาลเผด็จการ

แม้รัฐบาลไทยจะไม่ได้เผยรายละเอียดของการหารือกันระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับผู้แทนเมียนมาซึ่งเดินทางเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวานนี้ แต่ทว่าสถานีโทรทัศน์ MRTV และ โกลเบิล นิว ไลต์ ออฟ เมียนมา สื่อกระบอกเสียงของกองทัพ ได้รายงานว่า นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ได้เดินทางเยือนไทยตามคำเชิญของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

สื่อเมียนมาระบุว่า หม่อง ลวิน ได้เดินมายังประเทศไทยด้วยเที่ยวบินพิเศษโดยถึงยังสนามบินในกรุงเทพเวลา 07.00 น. ก่อนเดินทางกลับไปยังกรุงเนปิดอว์ในวันเดียวกันเมื่อเวลา 17.00 น. โดยระหว่างการเยือน ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาลโดยมีดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศไทยร่วมหารือด้วยเป็นเวลาราว 1 ชั่วโมง 

สื่อเมียนมายังระบุว่า ในการหารือแบบทวิภาคี ผู้นำไทยและผู้แทนฯคณะรัฐประหารพม่าได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลายเรื่องทั้งด้านความสัมพันธ์ของสองชาติ ความร่วมมือในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน ความมั่นคงและเสถียรภาพตามแนวชายแดน รวมไปถึงสถานะทาวงกฎหมายและการรับรองสิทธิแรงงานชาวเมียนมาในไทย

หลังเสร็จสิ้นการหารือ ผู้แทนฯ พม่าได้หารือร่วมกับนางเรตโน มาร์ซูดี รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเดินทางเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการเช่นกัน พร้อมกับนายดอน แลกเปลี่ยนมุมมองความร่วมมือของเมียนมากับอาเซียนในอนาคต โดยในรายงานไม่ได้ระบุถึงการหารือที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารของกองทัพ

เมียนมา-ไทย-อินโดนีเซียน


วอนอาเซียนไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร

ในวันเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีไทยให้การต้อนรับผู้แทนรัฐประหาร ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวเมียนมาจำนวนหนึ่ง เดินทางไปชุมนุมด้านหน้าสถานทูตไทยในนครย่างกุ้ง เช่นเดียวกับที่ด้านหน้าสถานทูตอินโดนีเซียย โดยเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลไทยและอินโดนีเซียไม่ควรแสดงออกด้วยการยอมรับหรือมีท่าทีสนับสนุนใดๆ ต่อคณะรัฐประหาร

"ช่วยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีหน่อย" "อาเซียนควรเคารพเสียงโหวตของเรา" "เผด็จการไม่เคยรักษาสัญญา หยุดเจรจากับพวกเขา" คือเพียงส่วนหนึ่งของเสียงร้องร้องจากชาวเมียนมาที่เคลื่อนไหวประท้วงด้านหน้าสถานทูต โดยไม่เพียงแค่สถานทูตไทยและอินโดนีเซียเท่านั้น ผู้ประท้วงชาวเมียนมายังชุมนุมด้านหน้าสถานทูตบรูไน ซึ่งเป็นที่ประธานอาเซียนประจำปีนี้

เช่นเดียวกับกลุ่ม Equality Myanmar ได้ออกแถลงการณ์ว่า "ถ้าอาเซียนไม่เคารพเจตจำนองของประชาชน แรงกดดันจากนานาชาติจะเพิ่มขึน ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลัการพื้นฐานของอาเซียนเอง ในการสนับสนุนประเทศสมาชิกให้ก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ดังที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน"

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่าคำแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งร่วมหารือกับไทยและเมียนมา โดยอินโดฯ เรียกร้องให้เมียนมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเมียนมาเป็นหลัก ทั้งยังย้ำต่อรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ด้วยการยกกฎบัตรอาเซียนที่ชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศยึดถือร่วมกัน