วันที่ 13 ก.พ. พรรคเพื่อไทย นำโดย นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง การอภิปรายทั่วไปเพื่อซักแถมหรือเสนอแนะตามมาตรา 152 แห่งรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 15-16 ก.พ. 2566 นี้
นพ.ชลน่าน เผยว่า ในการอภิปราย 2 วันดังกล่าว จะใช้เวลาทั้งหมด 36 ชั่วโมง ถือเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายในสมัยประชุม หรือในอายุของสภาฯ นี้ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ใช้สิทธิขอเปิดอภิปรายมาต่อเนื่องทุกปี ญัตติโดยรวมคือการสอบถามข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 12 ประการที่เคยแถลงไว้ แต่ไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงได้ รวมถึงเรื่องต่างๆ ที่ข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจน เช่น ทุจริตคอร์รัปชัน ธุรกิจสีเทา ภัยด้านไซเบอร์ และภัยยาเสพติด
การอภิปรายครั้งนี้ สุทิน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ตั้งชื่อว่า ยุทธการ 'กระชากหน้ากากคนดี' สืบเนื่องจากสื่อมวลชนที่ตั้งฉายารัฐบาลชุดนี้ว่า 'หน้ากากคนดี' การกระชากหน้ากากจะทำให้เห็นว่า ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นคนดีนั้น แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร
สำหรับกระแสข่าวว่าจะมีการปิดกั้นการอภิปรายฯ โดย ส.ส.บางส่วนจะไม่อยู่เป็นองค์ประชุมนั้น นพ.ชลน่าน ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น เพราะในระบบนิติบัญญัติและรัฐสภาทุกคนมีบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ การจงใจฝ่าฝืนไม่ทำหน้าที่ของตัวเองในระบบรัฐสภา ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบประชาธิปไตย จึงเชื่อมั่นว่า ส.ส.จะไม่ทำเช่นนั้น แต่หากเกิดขึ้นจริง เราก็มีมาตรการยอมรับ
"ถ้ามีการปิดกั้นขึ้นจริง เราจะมีการอภิปรายแน่นอน แต่เป็นการอภิปรายนอกสภา ญัตติเราไม่ได้ตกไป แล้วจะหยิบยกมาอภิปรายต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นสมัยประชุม และจะเป็นผลเสียต่อคณะรัฐมนตรีเองที่ไม่มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงต่อข้อกล่าวหาต่างๆ"
ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ยังชี้ว่า การปิดกั้นไม่ให้มีการตรวจสอบ คือการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอาจต้องพิจารณาว่ามีข้อกฎหมายใดที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ได้ และการปิดกั้นดังกล่าว จะถูกนำไปบอกกล่าวต่อประชาชนว่า พรรคการเมืองใดที่ไม่ยอมรับในระบอบการปกครองปัจจุบัน สมควรที่จะอยู่ในระบอบนี้ต่อไปหรือไม่
ด้าน สุทิน ระบุว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำการตรวจสอบรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีช่องว่างให้รัฐบาลทำสิ่งไม่ดี ครั้งนี้จะเป็นการสรุปพวกยอดในรอบ 4 ปี เป็นการตรวจข้อสอบปลายภาคของรัฐบาลเพื่อส่งให้ประชาชนดู โดยตรวจสอบจากนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้เป็นเกณฑ์ชี้วัด ว่าส่วนใดที่ไม่ทำ ทำไม่ได้ หรือทำตรงกันข้าม พร้อมให้ข้อแนะนำว่าควรทำอย่างไรในช่วงเวลาที่เหลือ หรือในสมัยต่อไป
รัฐบาลชุดนี้เคยย้ำว่า เข้ามาเพื่อปราบทุจริต แต่ในทางตรงกันข้าม เราจะเสนอให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้มีการโกงมากที่สุดตามการจัดอันดับ พร้อมจะชี้ให้เห็นว่ามีกรณีการโกงใดบ้าง อีกทั้งการใช้นโยบายปราบปรามคนเห็นต่างโดยอ้างความมั่นคง แต่เราจะอภิปรายให้เห็นว่ารัฐบาลเป็นผู้ทำลายความมั่นคงเสียเอง รัฐบาลอ้างตนว่าเทิดทูนสถาบันฯ แท้ที่จริงแล้วเป็นแนวร่วมมุมกลับ และภูมิปัญญาของคนในรัฐบาลชุดนี้ ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน
ส่วนกระแสการปิดกั้นไม่ให้มีการอภิปรายนั้น สุทิน กล่าวว่า เราประเมินจิตใจฝ่ายค้านไว้สูง ว่าไม่น่าเกิด เพราะในประวัติศาสตร์ไม่เคยมี ถ้ามีก็จะเป็นครั้งแรก ที่รัฐบาลซึ่งมาจากประชาธิปไตย และพร้อมจะเดินหน้าเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ กลับหนีการตรวจสอบ และปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน
"แต่คุณจะปิดอย่างไรก็ไม่จบ ประธานสภาฯ จะนัดต่อไปอีกในสัปดาห์หน้า ถ้ายังล่มอีก เราจะอภิปรายนอกสภาทันที และคุณจะเสียโอกาสในการแลกหมัด เชื่อว่ารัฐบาลฉลาดพอที่จะไม่ทำเช่นนั้น"
ขณะที่ จุลพันธุ์ ระบุว่า หลังการต่อรองกรอบเวลากับฝ่ายรัฐบาลแล้ว ท้ายที่สุดกรอบเวลาเหลือเพียง 2 วัน ซึ่งไม่สมดุล เพราะฝ่ายค้านจะได้เวลาวันละ 12 ชั่วโมง และรัฐบาลได้ชี้แจงวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความต้องการของรัฐบาลเองที่ยอมตัดเวลาชี้แจงของรัฐบาล เพื่อให้เวลาอภิปรายน้อยลง
ทั้งนี้ ขุนพลผู้อภิปรายจากฝ่ายค้านมีทั้งหมด 35 ท่าน เริ่มด้วยการเปิดญัตติโดย นพ.ชลน่าน ตามด้วยหัวหน้าพรรค และผู้ใช้สิทธิหัวหน้าพรรคประมาณ 5-6 คน จากนั้น จะแบ่งผู้อภิปรายเป็นกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ กลุ่มสังคม เช่น ยาเสพติด ปัญหาสังคมต่างๆ กลุ่มการเมือง ที่มีกลไกไม่เป็นธรรมชาติ และกลุ่มทุจริต ซึ่งมีเรื่องใหม่ๆ นำเสนอ ส่วนในเย็นวันพฤหัส (16 ก.พ.) ถ้าไม่มีอุบัติเหตุอะไร จะอภิปรายจบราว 23.00 น. โดยเป็น สุทิน อภิปรายสรุปในเวลา 21.00-22.00 น.