วันที่ 22 ต.ค. 2565 ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วย รณกาจ ชินสำราญ กรรมการบริหาร และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทยแถลงข่าวประเด็นหัวข้อ “ชำแหละยุทธการตบตาประชาชน ที่ค่าไฟแพง เพราะราคาแก๊สขึ้น หรือเพราะเอื้อนายทุน จนประชาชนต้องรับผลกรรม” โดยระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณการใช้ไฟอยู่ที่ประมาณ 33,177 เม็กกะวัตต์ ในขณะที่ตัวเลขการผลิตไฟฟ้ามีมากถึง 52,389 เม็กกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ใช้จริงถึง 57% โดยที่มาของการผลิตไฟนั้น มาจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่ 32% หรือ 16,906 เม็กกะวัตต์ / ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) 31% หรือ 16,124 เม็กกะวัตต์ และ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก อีก 26% โดยมีตัวเลขการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ อยู่ที่ 11% หรือ 5,721 เม็กกะวัตต์
"เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดรัฐบาลถึงปล่อยให้มีการทำสัญญาผลิตไฟที่สูงเกินปริมาณใช้จริงมากถึงขนาดนี้ เพราะโดยทั่วไปแล้ว การสำรองไฟจะอยู่ที่ไม่เกิน 20% ของปริมาณใช้ไฟเท่านั้น แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีตัวเลขสำรองไฟฟ้าสูงถึงเกือบ 60% เป็นเหตุให้ประชาชนต้องทนแบกรับค่าไฟที่สูงขึ้น จากการสำรองไฟที่มากไป โดยถูกคิดไปคำนวนเป็นค่า FT ที่สูงถึง 93 สตางค์ และยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เจอวิกฤตพลังงานโลก ส่งผลให้ราคาแก๊สธรรมชาติพุ่งสูง ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟ ส่งผลให้ประชาชนคนไทยไม่มีทางเลือก แต่ต้องแบกรับค่าไฟที่แพง ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยมีสภาองค์กรผู้บริโภค (สอบ.) ได้ออกมาเตือนรัฐบาลตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า รัฐได้มีการสำรองไฟมากเกินความจำเป็น เป็นต้นเหตุให้ค่าไฟแพง แต่รัฐบาลก็ยังไม่ฟัง และได้ปรับค่า FT ขึ้นอีกรอบตอนเดือนกันยายน" รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทยกล่าว
ด้าน รณกาจ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงว่า ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่จำนวนมากถึง 16,124 เม็กกะวัตต์ โดยยังไม่นับผู้ผลิตไฟรายเล็ก ซึ่งการมีการสำรองไฟฟ้าถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ต้องอยู่เกณฑ์ที่เหมาะสม คือไม่ควรมากเกินกว่า 20% แต่รัฐบาลกลับมีการทำสัญญาซื้อไฟฟ้ามากกว่าการใช้งานมากถึงเกือบ 60% ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการเซ็นสัญญาเหล่านี้ เป็นการเอื้อนายทุนหรือไม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้
"โดยทางพรรคไทยสร้างไทย ได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการต่อสัญญาการผลิตไฟฟ้าที่ใกล้หมด เพื่อปรับลดปริมาณการสำรองไฟให้ไม่เกินอยู่ที่ 25% พร้อมเจรจาลดการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ และสนับสนุนให้ประชาชนติดโซลาร์ในครัวเรือน เพื่อสามารถผลิตไฟใช้ได้เอง ซึ่งนอกจากจะสร้างความยั่งยืนแล้ว โซลาร์ยังเป็นพลังงานที่สะอาด ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย" รณกาจกล่าว