อากาศก็ร้อน ค่าไฟก็พุ่ง ทำเอาหลายคนปาดเหงื่อแทบไม่ทัน เมื่อเจอบิล ‘ค่าไฟ’ ที่แพงขึ้นอีกเท่าตัว สวนทางกับรายรับที่ขัดสน ในยุคที่หลายคนเรียกว่า ‘แพงทั้งแผ่นดิน’ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ร้องทุกข์และตั้งคำถาม เหตุใดคนไทยต้องจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้นทุกวัน
ด้านท่าทีของผู้นำรัฐบาลอย่าง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี ก็ตอบข้อสงสัยว่าต้องไปหาสาเหตุของค่าไฟแพง การบริหารมีความซับซ้อนหลายอย่าง ส่วนการขอให้ลดค่าไฟค่าแก๊ส ต้องไปดูว่าทำได้หรือไม่
ด้วยเหตุนี้ ‘วอยซ์’ ชวน อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภองค์กรของผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญที่เคยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องภาครัฐในการแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง มาร่วมอธิบายถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น
‘อิฐบูรณ์’ เริ่มด้วยพื้นฐานว่าด้วยทำไมค่าไฟในครัวเรือนแพงถึง 4.72 บาท/หน่วย ในช่วง ม.ค.-เม.ย. 66 และมีข่าวจาก กกพ. ว่าจะปรับค่า FT หรือ ค่าไฟฟ้าผันเเปร ขยับขึ้นมาอีก 5 สต. เป็น 4.77 บาท/หน่วย จากเดิมที่เจอตอนต้นปี 2565 อยู่ที่ 3.85 บาท/หน่วย เรียกง่ายๆว่าปีนี้จะได้ใช้ไฟเกือบ 5 บาทต่อหน่วย ซึ่งสาเหตุการก้าวกระโดดของค่าเอฟที ขยับขึ้นเมื่อต้นปี 2565 เริ่มจาก 1.39 สต./หน่วย แล้วกลางปีอยู่ที่ 24.77 สต./หน่วย ปลายปีกลายเป็น 93.43 สต./หน่วย ยังคงใช้มาถึง ม.ค.-เม.ย.ที่ตรึงค่าเอฟทีไว้
หากย้อนดูสถิติการขยับขึ้นของค่าเอฟทีในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ตั้งแต่ปี 2554-2566 พบว่าในปี 2554 ค่าเอฟทีอยู่ที่ราคา 86.88 สต./หน่วย และในช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 อยู่ที่ราคา 69.00 สต./หน่วย ต่อมาถึงปี 2564 พบว่าค่าเอฟทีของประเทศไทยติดลบมาโดยตลอด กระทั่งเริ่มมีสัญญานขยับขึ้นค่าเอฟทีในปี 2565 จนถึงการตรึงราคาในปัจจุบัน
อฐิบูรณ์สรุปง่ายๆ ว่าค่าเอฟทีจากติดลบขยับมาเป็นเกือบ 1 บาท/หน่วย เป็นตัวเลขสำคัญที่ทำให้ค่าไฟทะยานขึ้นมา และค่าเอฟที 93 สตางค์ต่อหน่วยเป็นค่าเอฟทีที่สูงที่สุด นับตั้งแต่เรามีค่าเอฟทีอยู่ในบิลค่าไฟตั้งแต่ปี 2535 ที่เคยสูงมาก 60 กว่า สต./หน่วยก็คือปี 2557 ก่อนรัฐประหาร
ผู้เชี่ยวชาญจากสภาองค์กรของผู้บริโภค พาถอยออกมามองให้กว้างทำไมค่าเอฟทีพุ่งทะยานแบบนี้ เพราะระบบพลังงานประเทศไทยเป็นระบบรวมศูนย์โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อรายเดียว แต่เผอิญว่ามีนโยบายช่วง 2534-2535 เปิดโอกาสให้เอกชนมาร่วมผลิตไฟฟ้า เพื่อแบ่งเบาหนี้สาธารณะของประเทศที่ต้องให้กฟผ.ไปกู้เงินมาสร้างโรงไฟฟ้า ก็เลยมีการจัดทำสิ่งที่เรียกว่า PDP
แผนนโยบายพลังงานแห่งชาติ กำหนด กฟผ.ผลิตเท่าไหร่ เอกชนผลิตเท่าไร หลังจากนั้นกำลังการผลิตไฟฟ้าเอกชนก็เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จากที่เคยอยู่ประมาณ 50% ตอนนี้อยู่ที่ราว 33% ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดในประเทศไทย ที่เหลือเป็นของเอกชน ในรูปโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ IPP โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP แล้วก็มีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเขื่อนของลาวเพิ่มเติมขึ้นมา
เหล่านี้ที่เกิดขึ้นสิ่งที่ทำให้ค่าไฟแพงคือ นโยบายหรือการหาเสียงว่า ประเทศจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทุกครั้งที่จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล ใครอยากเป็นผู้นำรัฐบาลตลอด 20-30 ปี ทุกคนจะโชว์ประเทศไทยเศรษฐกิจจะดีขึ้น
การที่บอกว่าประเทศจะพัฒนาเพิ่มขึ้น แล้วไม่อธิบายเงื่อนไขว่าเศรษฐกิจที่เพิ่มนั้น จะมีค่าไฟที่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างไร มันเลยตามมาด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมพลังงานที่จะเอามาใช้ในโรงไฟฟ้า เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ
มันนำมาสู่การกำหนดโครงสร้างพลังงานไทย ถ้ารัฐบาลบอกเศรษฐกิจจะโตขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเดินหน้าตามนั้น สภาพัฒน์ก็มาคาดการณ์เพื่อรองรับว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้น จริงไหมไม่มีใครตรวจสอบ นำมาสู่ตัวเลขการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าใน PDP ซึ่งเป็นไปตามตัวเลขของพีดีพี
แล้วมันก็นำมาสู่ของจริงคือ มีโรงไฟฟ้ากี่หมื่นเมกกะวัตต์ภายในสิบปี แผนจัดหาก๊าซ ถ่านหิน ตามมาเป็นยวง เกิดการขยับในเศรษฐกิจพลังงาน ซึ่งก็ดันเศรษฐกิจภาพรวมไปในตัว แต่มันทำให้เกิดปัญหา ปกติเราผลิตพลังงานเพื่อมารองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอื่นๆ
แต่วันนี้ธุรกิจพลังงานกำลังกินธุรกิจอื่นที่ควรเป็นตัวเลขดันจีดีพี กลายเป็นเศรษฐกิจขยายตัวเพราะเรามีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นักลงทุนลงทุนกับก๊าซ แต่ไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจส่วนอื่น แล้วค่าไฟฟ้าก็สูงขึ้น ทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นก็กังวลว่า เราจะไม่สามารถแข่งขันได้ ถ้าปล่อยให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในทิศทางหรือระดับราคาขนาดนี้
โดยสรุป ค่าไฟแพง เกิดจากความคาดหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มองด้านเดียว และนโยบายพลังงานของไทย เพราะมีการออกแบบอยู่ในค่าไฟฟ้าไทยให้มีค่าเอฟทีเกิดขึ้น เพื่อรองรับต่อต้นทุนที่รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ โรงไฟฟ้าไม่ต้องรับผิดชอบ นำมาสู่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ไม่เป็นธรรมกับคนจ่ายค่าไฟ
อย่างโรงไฟฟ้า IPP หรือ SPP ตอนที่เข้ามาประมูลเพื่อเข้าในระบบ คุณอาจเสนอในราคาที่ต่ำ แต่เปิดช่องให้ว่า ถ้าหากว่ามีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูงขึ้นก็นำมาใส่ในค่าไฟที่ กฟผ.ที่ต้องซื้อได้ โดยเอามาไว้ในค่าไฟผันแปรหรือค่า FT ของประชาชนไป ดังนั้นการไม่รักษาระดับความเสี่ยงร่วม ทำให้ความเสี่ยงต้นทุนค่าเชื้อเพลิง เช่น สงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาก๊าซพุ่งสูง
เมื่อไม่มีเพดานรองรับดูแลการจ่ายเงินของรัฐ ทำให้ทุกอย่างถูกดันมาอยู่ใน FT 100% ให้ประชาชนทยอยจ่าย สภาพการณ์ตอนนี้ แม้ว่าค่าก๊าซ LNG ของตลาดโลกเริ่มร่วงมาตั้งแต่หลังมิ.ย. 65 แต่ค่าไฟของเรายังไม่ลด เพราะ กฟผ.ยังมีภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่แบกรับไว้อยู่ อันนี้คือสิ่งที่ต่อเนื่องขึ้นมา
โดยระบบของการลงทุนโรงไฟฟ้า ยังไงเราก็ต้องซื้อ ซ้ำยังสัญญาที่เรียกว่า ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เข้ามาประกบ ทำให้เกิดปัญหาประกอบไปด้วย 1.ในระบบสัญญาไม่มีขีดจำกัดในการรับต้นทุนที่มันผันแปร ความเสี่ยงทั้งหมด กฟผ.เป็นคนรับทั้งหมด โดยเอกชนที่ร่วมดำเนินการไม่ต้องรับความเสี่ยงต้นทุนเชื้อเพลิงทั้งหมดเลย
2.แม้ปัจจุบันไฟฟ้าล้นระบบ และเกิดสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจใช้ไฟน้อยลง เทคโนโลยีโซลาเซลลทำให้คนใช้ไฟกลายเป็นคนผลิตได้ด้วย ทำให้เกิดไฟล้นระบบในปัจจุบัน จึงมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินมาตรฐานสากล ที่กำหนด 10-15% แต่ขณะนี้เรามี 50% เทียบจากปริมาณกำลังการผลิตตามสัญญา
อิฐบูรณ์ ชี้ว่าค่าความพร้อมจ่ายก็สร้างปัญหา ตอนนี้เราพบว่ามีโรงไฟฟ้าหลายพันเมกกะวัตต์ที่ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่รัฐต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้ ถึงแม้ว่าจะจำนวนไม่เยอะ แต่สะท้อนให้เห็นว่ามีไฟล้นระบบอยู่ มีข้อมูลต้องตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยว่า เสมือนมีบริษัทเอกชนบางรายที่เป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้า คล้ายๆ ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า
ทั้งที่มีต้นทุนการขายไฟเพียงแค่ 3-4 บาท/หน่วย เพื่อให้มีพื้นที่ไปซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนบางกลุ่ม บางพวก ที่ขายไฟฟ้า 8-9 บาท/หน่วย คล้ายๆ เป็นการให้คนเหล่านั้นมีพื้นที่รายได้บ้างเพิ่มเติมในช่วงที่ไฟมันล้นระบบ เพราะค่าความพร้อมจ่ายก็เป็นเงินจำนวนไม่มากเท่าการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้วได้อัตรา 8-9 บาท
“การที่ผลักภาระทั้งหมดให้ กฟผ.ได้แล้ว กฟผ.ก็ผลักให้ประชาชน มันทำให้เกิดปัญหาไม่เกิดประสิทธิภาพในการผลิต นี่คือสภาพปัญหาทั้งหมด”
ค่าความพร้อมจ่ายเป็นส่วนหนึ่ง แต่ค่าพร้อมจ่ายถึงแม้เป็นภาระ แต่ไม่เยอะมาก แต่สะท้อนให้เห็นว่าการเลือกใช้โรงไฟฟาที่เบี่ยงเบนจากความจำเป็นที่แท้จริง ในฐานะที่ กฟผ.เป็นผู้ซื้อไฟรายเดียว อำนาจต่อรองน่าจะมี พอบีบโรงไฟฟ้าที่อยากจะขยายไฟได้ แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมเจรจา กลับยอมรับซื้อกับโรงไฟฟ้าหลายโรง
อย่างของขนอม บริษัทลูกของ กฟผ. ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ขายหน่วยละ 3.45 บาท/หน่วย แต่พอมาดู GPSC ของเครือ ปตท. เฉลี่ยหน่วยละ 6.10 บาท/หน่วย กลุ่มราชบุรี ใช้ก๊าซจากพม่า ก็อยู่ที่ 4-5 บาท/หน่วย ก็ยังถูกกว่า
ที่น่าแปลกใจกลุ่มราชบุรีพาวเวอร์ที่ใช้ก๊าซกลับถูกสั่งหยุดการผลิตแล้วกินค่าความพร้อมจ่ายไป เดือนละ 250 ล้านบาท ถ้าเขาได้ผลิตไฟฟ้าอาจได้เดือนละ 1,600 ล้านบาท
รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค มองว่าเมื่อค่าไฟฟ้ามันแพงขนาดนี้ รัฐต้องเอาจริงเอาจังกับการต่อรองราคากับเอกชน ถ้ากับโรงไฟฟ้าเอกชนอื่นๆ ก็ต้องเจรจา หรือตรวจสอบให้เข้มข้นมากขึ้นว่าราคาที่เสนอขาย กฟผ.ที่ 6 บาท/หน่วย ขณะที่ที่อื่น 5 บาท/หน่วย ทำไมมันถึงสูงกว่า
ควรต่อรองให้ได้ราคาต่ำสุด ตรวจสอบเป็นรายโรง รายสัญญา คำถามคือ กฟผ. กกพ.ทำหรือยัง เขาเชื่อว่าไม่ได้ทำ เมื่อปี 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคเคยมีหนังสือไปกระทรวงพลังงานให้เจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้ เช่น ค่าความพร้อมจ่ายขอจ่าย 30% หรือ 60% ได้ไหม หรือชะลอหนี้
ขณะเดียวกันในต่างประเทศ ชะลอยืดออกไปได้ไหม สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนต่างๆ ที่รัฐบาลเที่ยวไปเซ็นสัญญาไว้ เสมือนว่าประเทศตัวเองขาดแคลนไฟฟ้าทั้งที่ไม่ได้ขาดแคลน อย่างไฟฟ้าที่ซื้อจากลาวจริงๆ ก็ไม่ได้ซื้อจากลาว แต่เซื้อจากเอกชนที่ไปรับจ้างลาวผลิตไฟฟ้า
แล้วลาวก็ต้องการแค่ 5-10% เกือบทั้งหมดมันส่งกลับประเทศไทย ขณะที่ไทยก็ไม่ได้มีความต้องการ เพราะบ้านเราใช้ระบบกริด หรือ เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกันในการจ่ายไฟฟ้า ถ้าจะอ้างว่าอีสานไฟต่ำ ก็มีวิธีกริดได้ และการซื้อไฟฟ้าจากลาวเมื่อก่อน 1-2 บาท ตอนนี้ขยับมาเป็น 3 บาท แพงขึ้นเกือบเท่าราคาก๊าซแล้ว จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะมาหน่วงราคาในภาพรวม
ทั้งนี้ประมาณ 50% ของเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าที่ใช้ ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่รับทราบกันดีว่า ผู้จัดหา ณ ปัจจุบัน แม้จะเปิดให้คนอื่นเข้ามาแต่ยังไม่มีความพร้อม ดังนั้นคนหลักก็คือ รัฐวิสาหกิจ บริษัทพลังงานของไทยเอง ซึ่งบริษัทนี้ก็ไม่ได้จัดหาจากเอกชนรายอื่น แต่ซื้อจากบริษัทลูกและบริษัทหลานที่ตั้งที่ต่างประเทศนั่นเอง
ดังนั้น หนี้ก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลควรต้องเจรจากับบริษัทของตัวเองนี่แหละ จะทยอยบริหารหนี้ได้อย่างไร หรือจะไปขอรับบริจาคเขาเหมือน 'ขอทาน' เขาดังเช่นกรณีน้ำมันอย่างนั้นหรือ ทั้งที่รัฐเองเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำไมไม่ใช้อำนาจของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่จะลดเปอร์เซ็นต์ของผลกำไรปลายปีลงมา เป็นการบริหารจัดการเฉพาะหน้า คำถามคือ กระทรวงพลังงานทำเรื่องนี้หรือยัง
การแก้ปัญหาภาพใหญ่กว่านั้นก็คือ ปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้าล้นระบบ ควรต้องตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มันล้นระบบ แต่กลับมาตอบคำถามว่า เดี๋ยวอีก 10 ปีก็เต็มระบบเอง ตามที่ กกพ. มีมติล่าสุด ที่จะยกเลิกเกณฑ์ปริมาณสำรองไฟฟ้า ที่จะกำหนดว่าเราจะสร้างโรงไฟฟ้าเท่าไร
เพราะตอนนี้ประชาชนออกมาแจงแถลงไขแล้วว่า เกิน 50% แม้จะพยายามบิดไปว่า เราต้องเอากำลังการผลิตที่แท้จริงมาวัด อย่าไปเอากำลังการผลิตตามสัญญา ถ้าเป็นการผลิตที่แท้จริงจะเหลือแค่ 30% ซึ่งมันก็ยังสูงมากอยู่ สูงกว่า IEA ที่วางไว้ 15% เราต้องถามว่าคนพูดแบบนี้จ่ายเงินแทนประชาชนหรือ
ดังนั้น ปริมาณสำรองไฟฟ้ามีล้นระบบ จะหน่วงหรือหยุดมันไปก่อนได้ไหม แล้วโรงไฟฟ้าก็เป็นแบบเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่โรงไปทางกรีนและกระจายตัว แต่เราจะเอาทั้งสองอย่าง ไม่ทิ้งฟอสซิลและเอากรีนด้วย เป็นเพราะห่วงผลประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องหรือไม่
อันนี้รัฐบาลต้องออกมาแจงที่จะยกเลิกเกณฑ์ปริมาณไฟฟ้าสำรองออกไป แล้วมาใช้เกณฑ์ไฟฟ้าดับ แน่นอนมันไม่ดับอยู่แล้ว มีโรงไฟฟ้าเยอะขนาดนี้แต่มันกำลังจะทำให้คุณเดินหน้ามีโรงไฟฟ้าต่อไป โดยไม่ต้องสนใจอะไรแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย นี่เป็นการโกงทางนโยบาย ดังนั้นเราต้องหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ รัฐต้องมีนโยบายคุมเพดานราคาไว้ หากบอกตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ ก็ต้องคุมตัวเลขความสามารถจ่ายด้านพลังงานของประชาชนด้วย ว่าช่วง 5-10 ปีนี้ ประชาชนมีความสามารถจ่ายเท่าไร แล้วคุมตัวเลขนั้น ตอนนี้เราเจอภาวะที่ต้นทุนอยู่ที่ 6-10 บาทต่อหน่วย มันต้องมีเพดาน ในการทำสัญญา เกินจากนั้นให้เอกชนรับความเสี่ยงไป มันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพการบริหารกิจการของเขา
รัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดว่า โรงไฟฟ้าหลักคือโรงไฟฟ้าก๊าซถ่านหิน มาเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลที่มีแหล่งกักเก็บที่รัฐเป็นผู้ลงทุนก็ได้ การใช้ระบบร่วมกันที่ปลายทางโดยไม่ต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่กทม. แล้วเดินสายส่งไปเกาะสมุย สุราษฎร์ วางสายเคเบิลลงใต้ทะเลเป็นพันล้านบาท กลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลเป็นเหมือนถ่วงความเจริญด้านนี้หรือเปล่า แล้วก็ผลักภาระให้ประชาชนอย่างขาดความรับผิดชอบ
ถ้าไม่มีรัฐบาลไหนคิดจะขยับ เปลี่ยนแปลงหรือจัดการลงรายละเอียดการจัดการ แบบละเอียดเลย ประชาชนก็ต้องเดินหน้าจ่ายค่าไฟแบบนี้แพงขึ้นต่อเนื่อง เพราะหนี้เก่าที่ กฟผ.แถลง 1 แสนล้าน เหมือนหนี้กองทุนน้ำมันเป๊ะเลย แม้ว่าราคาก๊าซตลาดโลกจะลดลง แต่กฟผ.ก็ต้องหักเงินที่ตัวเองแบกหนี้ไว้มาใส่ในค่าเอฟที
รัฐควรใช้อำนาจที่รัฐมี ช่วงสถานการณ์ที่สินค้าล้นตลาด เจรจากับบริษัทโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง ค่าไฟ 5 บาทต่อหน่วยไม่ได้เดือดร้อนเฉพาะประชาชน กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนร้อนถ้วนหน้า มันจะทำให้ประเทศขาดความสามารถในการแข่งขัน
เพราะน้ำมันก็ราคาสูง ค่าไฟก็ราคาสูง รัฐบาลเกิด EEC ทำไมเขาถึงไม่มา ปัจจัยหนึ่งคือต้นทุนพลังงานเราสูงมาก ณ สถานการณ์ปัจจุบันมันสะท้อนถึงการขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ อ้างแต่ความมั่นคง ซึ่งมันมั่นคงมากเกินไป
ท้ายที่สุด ทิศทางพลังงานไทยผ่านแผน PDP รัฐบาลปัจจุบันมีมติให้มีผล เดินหน้าให้เกิดโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ นำไปสู่การเซ็นสัญญาต่อเนื่องในส่วนสัญญาค้างท่อต่างๆ อันนี้รัฐบาลใหม่ต้องทบทวน และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน นักวิชาการที่เป็นกลางเข้าไปเคาะด้วย
“แผนพลังงาน ทั้งที่เป็นแผนที่กระทบกับประชาชนทั้งประเทศ แต่ไม่ต้องผ่านรัฐสภา เป็นสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการได้เลย เรื่องสำคัญอย่างนี้น่าทบทวนว่าเรื่องสำคัญอย่างนี้ควรมีการตรวจสอบจากรัฐสภาหรือไม่อย่างไร เพราะที่ผ่านมามันไม่มีการตรวจสอบเลย เป็นอำนาจ กกพ. คนใหญ่ที่สุดคือ นายกฯ แต่นายกฯ ใหญ่จริงหรือไม่ยังเป็นคำถาม”