ไม่พบผลการค้นหา
รฟม.ชี้แจงปรับเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ย้ำมีเอกสารแนบท้าย ระบุชัด 'ปรับเงื่อนไขได้' ยันไม่เอื้อเอกชน

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการฯ) ในการพิจารณาปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนให้เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา ดังนี้

รฟม.ได้มีประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 โดยมีกำหนดยื่นซองเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนในวันที่ 23 ก.ย. 2563

ต่อมาคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 ได้มีมติเห็นชอบข้อชี้แจงต่อข้อสอบถามของผู้ซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP Clarification) และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) รวมถึงเห็นชอบการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอจากรูปแบบเดิมที่พิจารณาซองเทคนิค และซองการลงทุนและผลตอบแทน แยกจากกัน โดยให้พิจารณาซองการลงทุนและผลตอบแทนเฉพาะผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ผ่านการประเมินซองเทคนิคเท่านั้น เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา พร้อมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอของเอกชนออกไป 45 วัน เป็นวันที่ 9 พ.ศ. 2563 ในการนี้ รฟม.ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 นำส่ง RFP Addendum ให้แก่ เอกชนทุกรายทราบแล้ว

คณะกรรมการฯ และ รฟม.ได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบแล้วว่า การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐเนื่องจาก โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการฯ ส่วนตะวันตก ซึ่งจะต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างที่มีความซับซ้อนเนื่องจากเป็นการดำเนินงานก่อสร้างใต้ดินทั้งหมด ประกอบกับแนวเส้นทางที่พาดผ่านเข้าในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่อ่อนไหวหลายแห่งโดยเฉพาะกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ต้องก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการเดินรถไฟฟ้าที่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัยชั้นสูง ดังนั้น ผลประโยชน์ที่รัฐและประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับจึงขึ้นกับคุณภาพ เทคนิค และประสิทธิภาพในการดำเนินงานของเอกชนเป็นสำคัญ มิได้มีเพียงแต่ผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น


ก.ม.อนุญาต เปลี่ยนแปลงได้

การดำเนินการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และ รฟม. ในครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 35 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ) ซึ่งการออก RFP Addendum เป็นไปตามที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 17.1 ซึ่งได้ระบุว่า “ก่อนถึงกำหนดวันยื่นซองเอกสารข้อเสนอ รฟม. อาจมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (ที่ระบุในข้อ 15.) โดยการออกเอกสารแนบท้ายเพิ่มเติม โดยเหตุผลสำหรับการปรับเปลี่ยนนั้น อาจมาจากการพิจารณาของ รฟม. เอง หรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชี้แจงข้อซักถามของผู้ยื่นข้อเสนอก็ได้”

สอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (8) และ 4 (9) และเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563

การปรับปรุงเอกสาร RFP ครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงเฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอเท่านั้น ไม่ได้เป็นการปรับปรุงเนื้อหาข้อเสนออื่นใดในเอกสาร RFP ดังนั้นการดำเนินการดังกล่าวจึงมิได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายใด

นอกจากนี้ รฟม.ได้ขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอของเอกชนออกไปอีก 45 วัน นับเป็นระยะเวลาในการจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนของเอกชนประมาณ 70 วัน เพื่อให้ผู้ซื้อเอกสาร RFP ทุกรายได้มีเวลาเพิ่มเติมในการศึกษาเอกสาร RFP ซึ่งรวมถึงวิธีการประเมินข้อเสนอที่ได้ปรับปรุงในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ การกำหนดวิธีการประเมินข้อเสนอในลักษณะดังกล่าวมีความเหมาะสมกับคุณลักษณะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่มีความซับซ้อนในการดำเนินการมาก ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 83 (2) ประกอบมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า การจ้างออกแบบรวมก่อสร้างที่มีความซับซ้อน มีเทคโนโลยีสูง หรือมีเทคนิคเฉพาะ สามารถใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่นได้

ทั้งนี้ รฟม.ขอเรียนยืนยันว่า การดำเนินการข้างต้นมีความโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ เป็นไปตามมาตรฐานของ รฟม. เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการและภาครัฐ โดยไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่เอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP รายใด


สายสีส้มยาว 35.9 กม.

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: