ไม่พบผลการค้นหา
OpenLux เปิดโปงประเด็นการวางตัวเป็นดินแดนแห่งการ 'ฟอกเงิน' ของลักเซมเบิร์ก พบปัญหาสำคัญจากประเด็นการเปิดเผยเจ้าของที่แท้จริง

'ลักเซมเบิร์ก' ประเทศที่มีพื้นที่เล็กกว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาของไทยทั้งยังไร้ซึ่งทางออกสู่ทะเล ไม่ใกล้เคียงการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของโลกหรือแม้แต่เป็นนครการเงินเนื้อหอมในยุโรปยิ่งเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศสหรือเยอรมนี ทว่าราชรัฐแห่งนี้กลับดึดดูดความมั่งคั่งจากบริษัทเจ้าของต่างชาติด้วยตัวเลขสูงกว่าจีดีพีทั้งประเทศของญี่ปุ่น 

รายงานเจาะลึกของ OpenLux องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง 'Le Monde' (เลอมงด์) หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสและสื่ออื่นอีกกว่า 10 แห่ง พบมูลค่าทรัพย์สินของบุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติลักเซมเบิร์กแต่เข้ามาเปิดบริษัทในประเทศ เป็นเงินอย่างต่ำ 6 ล้านล้านยูโร หรือประมาณ 217 ล้านล้านบาท 

ข้อมูลยังสะท้อนว่า ผู้ร่ำรวยอย่างน้อย 279 ราย ซึ่งอยู่ใน 2,000 อันดับมหาเศรษฐีพันล้านของนิตยสารฟอร์บส์มีชื่อในฐานะ 'ผู้รับผลประโยชน์' หรือ 'เจ้าของที่แท้จริง' ของบริษัทจดทะเบียนในลักเซมเบิร์ก

ยังมีผู้มั่งคั่งมากถึง 37 จาก 50 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อาทิ 'เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์' ประธานบริหารและซีอีโอของ LVMH เครือบริษัทมหาชนข้ามชาติ โมเอต์ เฮนเนสซี หลุยส์ วิตตอง เจ้าของแบรนด์หรูมากมาย อาทิ หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton), คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior), เซลีน (Celine) ไปจนถึง เฟนดิ (Fendi)

ผู้มีชื่อเสียงอื่นๆ ได้แก่ 'ไทเกอร์ วูดส์' โปรกอล์ฟที่มือชื่อเสียง, 'คริสเตียโน โรนัลโด' หนึ่งในนักฟุตบอลที่ได้รับการยกย่องในฝีเท้ามากที่สุดของยุคปัจจุบัน, นักร้องสาวสัญชาติโคลอมเบียอย่าง 'ชากีรา อิซาเบล เมบารัก ริโปล' หรือที่คนทั่วไปรู้จักเธอด้วยชื่อต้นอย่าง 'ชากีรา' ไปจนถึงกษัตริย์แห่งบาห์เรน หรือแม้แต่บริษัทผู้ผลิตสินค้าสำคัญที่สุดในโลกตอนนี้อย่างวัคซีนต้านโควิดของไฟเซอร์


สังคมไม่รู้ใครคือ 'ผู้รับผลประโยชน์'

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ลักเซมเบิร์กถือเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของยุโรปที่เริ่มบังคับใช้การลงทะเบียนเปิดเผย 'ผู้รับประโยชน์จากการทําธุรกรรมในทอดสุดท้าย' (Ultimate beneficial owner) หรือ UBOs ซึ่งหมายถึงบุคคลธรรมดา (Individual) ที่เป็นเจ้าของบัญชีที่แท้จริง อันเป็นเครื่องมีสำคัญที่สหภาพยุโรปตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการฟอกเงิน 

ในความเป็นจริง บุคคลทั่วไปกลับไม่สามารถค้นหาจากฐานข้อมูลของรัฐบาลได้ว่า 'ใคร' คือเจ้าของที่แท้จริงของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาจดทะเบียนในประเทศ ขณะเดียวกัน แม้มีการบังคับใช้มาตรการแสดงตัวเจ้าของแท้ที่จริงแต่ยังมีบริษัทเกือบครึ่งหนึ่งที่จดทะเบียน กองทุน และมูลนิธิต่างๆ ที่เข้ามาจดทะเบียนในลักเซมเบิร์กแต่กลับปราศจากการชี้แจงเจ้าของที่แท้จริง

แกเบรียล ซักแมน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผู้ศึกษาประเด็น 'tax heaven' หรือประเทศที่จัดเก็บอัตราภาษีต่ำ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ อธิบายกรณีการไม่เปิดเผยชื่อเจ้าของที่แท้จริงว่าเป็นกุญแจสำคัญไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสืบหาร่องรอยทางการเงินของเหล่ามหาเศรษฐีได้ 

ข้อมูลจาก OpenLux ยังนำไปสู่การตั้งคำถามเพิ่มว่าเจ้าหน้ารัฐที่ดูแลการจดแจ้งผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงอาจไม่เพียงพอต่อภาระงาน เมื่อเทียบว่าพนักงานจำนวน 59 คน ต้องรับผิดชอบต่อบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 100,000 แห่ง 

อ้างอิง; LeMonde, Forbes, Luxembourg Government, OCCRP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;