ไม่พบผลการค้นหา
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก แนะศูนย์พักพิงให้ความสำคัญในการปรุงประกอบอาหาร โดยเน้นปรุงร้อน สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีการจัดการสุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อม ขยะ และใช้ส้วมอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันโรค

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการปรุงประกอบอาหารในจุดที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเน้นสะอาดปลอดภัย ว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลืออพยพประชาชนในพื้นที่จุดเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึกไปยังศูนย์พักพิงที่หน่วยงานราชการจัดเตรียมไว้ให้ แต่เนื่องจาก มีประชาชนจำนวนมากที่อาศัยในศูนย์ดังกล่าว สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและคุมเข้มคือสุขอนามัยส่วนบุคคล การปรุงประกอบอาหาร และการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลงและการระบาดของโรค

โดยศูนย์พักพิงที่ต้องมีจุดปรุงประกอบอาหารนั้น ต้องเลือกพื้นที่หรือสถานที่ทำครัวที่ให้ไกลห้องส้วมและที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสียหรือที่เก็บสารเคมีโดยหลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น ควรมีโต๊ะเตรียมปรุงอาหารที่สูงจากพื้นป้องกันการปนเปื้อนต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหารเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเขียงควรแยกเขียงหั่นเนื้อ หั่นผักและอาหารปรุงสุก เขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ต้องล้างขจัดคราบไขมันด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ด เพราะจะทำให้ เชื้อโรคจากผ้าปนเปื้อนอาหารที่มีการหั่น สับ บนเขียงได้

แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย


แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวว่า ก่อนปรุงอาหารควรมีการล้างวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงทุกครั้งด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ส่วนผักบางอย่าง เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลาย ๆ ครั้งหรือแช่น้ำส้มสายชู แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดก่อนจะนำไปปรุงประกอบอาหาร ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ไม่ใช้มือจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง   ถ้ามือมีแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาหารส่วนการบรรจุอาหารที่ปรุงสุกแล้วควรใส่ในภาชนะที่สะอาดและไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงและบรรจุอาหารควรระบุวัน เวลา ในการกินให้ชัดเจนก่อนส่งให้กับผู้ประสบภัย เพราะหากเก็บนานเกินไปอาจทำให้อาหารบูดและเสียได้ อาหารที่ปรุงควรเป็นอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ อาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ยำ พล่าต่างๆ

“สำหรับการจัดการขยะ ในจุดปรุงอาหารจะต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารที่ทำด้วยวัสดุไม่รั่วซึม มีฝาปิด หากใช้ปิ๊ปควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง และต้องแยกขยะเป็นสองถังคือถังขยะเปียกและถังขยะแห้งเพื่อง่ายต่อการกำจัด ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือการใช้ส้วมเนื่องจากประชาชนที่อาศัยในศูนย์พักพิง       มีจำนวนมาก ผู้ใช้จึงต้องให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งขยะหรือวัสดุใดๆ ลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันโรคในช่วงน้ำท่วมอาทิ อุจจาระร่วง บิด เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง