ไม่พบผลการค้นหา
กรมอนามัย เผยเด็กวัยเรียน 6-14 ปี ร้อยละ 8.8 มีภาวะเตี้ย ชวนผู้ปกครองส่งเสริมให้เด็กดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้วและกินไข่วันละ 1 ฟองทุกวัน ร่วมกับการกระโดดโลดเต้น 60 นาที และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 9-11 ชั่วโมง

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีเป็น วันดื่มนมโลก กรมอนามัยจึงขอเชิญชวนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองร่วมกันส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการดื่มนมของลูก โดยจัดเตรียมนมให้เด็กดื่มนมที่บ้านเพิ่มเติมจากนมโรงเรียนอีก 1 กล่อง เพราะนมเป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดีและมีปริมาณแคลเซียมสูง โดยเฉพาะนมโคสด 100 เปอร์เซ็นต์ มีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งรสและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก ช่วยสร้างกระดูกที่มีผลต่อพัฒนาการด้านความสูง

ทั้งนี้ เนื่องจากระบบรายงาน Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข ปี 2562 พบเด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเตี้ย  ร้อยละ 8.8 ซึ่งเป้าหมายของประเทศกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียนยังไม่ดีเท่าที่ควร คือมีส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์ในเด็กที่มีอายุเท่ากัน โดยตั้งเป้าหมายให้ปี 2564 เด็กผู้ชายอายุ 12 ปี มีส่วนสูงเฉลี่ย 154 เซนติเมตร เพิ่มจากค่าเฉลี่ยความสูงปัจจุบันคือ 148.6 เซนติเมตร เด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี  มีส่วนสูงเฉลี่ย 155 เซนติเมตร เพิ่มจากค่าเฉลี่ยความสูงปัจจุบัน คือ 149.9 เซนติเมตร

“ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และดื่มนมรสจืด วันละ 2 แก้วและเพิ่มเติมด้วยการกินไข่วันละ 1 ฟองทุกวันร่วมกับการกระโดดโลดเต้น 60 นาทีทุกวัน และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 9-11 ชั่วโมง จะทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพและเพิ่มความสูงได้ เนื่องจากช่วงเวลาทอง (Golden period) ของเด็กในการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth spurt) เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจะแตกต่างกัน โดยเด็กผู้หญิงจะเริ่มในช่วงอายุ 9-10 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุประมาณ 12 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มของความสูงจะลดลงจนกระทั่งถึงอายุประมาณ 16-18 ปี ความสูงจะค่อนข้างคงที่ ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มในช่วงอายุ 10-12 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุประมาณ 14 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มของความสูงจะลดลงจนกระทั่งถึงอายุประมาณ 18-20 ปี ความสูงจะค่อนข้างคงที่” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :