9 มี.ค.2567 จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร นำคณะกรรมาธิการมารับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน ในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งถือเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ของคณะกรรมาธิการนี้ ตั้งแต่วันที่ 8-10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
เริ่มต้นเวทีแรกได้แลกเปลี่ยนกับศูนย์อำนวยการบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เสนอแนะความเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการไปร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ศอ.บต. พ.ศ.2568-2570 โดยมีข้อเสนอที่ต้องเร่งให้ความสำคัญ ดังนี้
1. การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ พบว่ามีกฎระเบียบจำนวนมากที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ไม่ได้สังคายนาและกลไกในการดูแลขาดช่วงไป
จาตุรนต์ กล่าวว่า เมื่อก่อนมีกองทุนเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แต่พอมีรัฐประหารกลับไม่มีองค์กรดูแลที่ชัดเจน หรือไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก 3 ฝ่าย เช่น ผู้ที่อยู่ในครอบครัวของผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรม ที่ในปี 2 ปีมานี้มีจำนวนถึง 90 กว่าคน ทำให้บุคคลในครอบครัว ญาติพี่น้องคนเหล่านี้ไม่ได้รับการเยียวยา ทั้งๆที่เขายังไม่ได้รับการพิสูจน์ตามกฎหมายว่ากระทำผิดกฎหมายหรือไม่
“การเยียวยาเมื่อก่อนมีหลักอยู่ว่าต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งและทำให้เกิดการปรองดอง แต่ตอนนี้กลับมีช่องว่างอยู่หลายอย่าง ทางคณะกรรมาธิการจึงเสนอ ศอ.บต.ให้มีการปรับเรื่องกฎระเบียบ ส่วนทางคณะกรรมาธิการเองก็จะไปรวบรวมรายชื่อผู้ตกหล่นไม่ได้รับการเยียวยาว่ามีมากน้อยแค่ไหน และควรจะมีการดูแลอย่างไร” ประธานกรรมาธิการ กล่าว
2. บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม หรือผู้ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาในด้านต่างๆ เช่น เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม รวมทั้งเรื่องการเยียวยา พวกเขาต้องการพื้นที่แสดงความคิดเห็นและแสดงออกได้อย่างปลอดภัย มีหลักประกันว่าการแสดงออกต่างๆจะไม่ถูกดำเนินคดีในลักษณะไปปิดปาก ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวาง จะเป็นประโยชน์ต่อการพูดคุยสันติภาพ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการทำให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญก้าวหน้าและสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. การเสนอลดการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งจากการชี้แจงของ ศอ.บต. พบว่าว่าได้เตรียมการอยู่บ้างแล้ว เช่น หน่วยงานดูแลเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่จะขยับขยายโอนถ่ายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงมหาดไทย แทนที่จะเป็นกอ.รมน. หรือกองทัพ
4. การส่งเสริมบทบาทของ ศอ.บต. ที่นอกจากให้ความสำคัญด้านการพัฒนายังต้องเพิ่มบทบาทส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพด้วย
จาตุรนต์ กล่าวว่า ในเวทีมีผู้มีประสบการณ์ด้านความมั่นคงให้ความเห็นกับกรรมาธิการว่า ถ้าให้การสร้างสันติภาพเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียวการแก้ไขปัญหาจะยากมาก ตรงกันข้าม ถ้าให้ ศอ.บต.ซึ่งทำงานด้านการพัฒนามาช่วยงานด้านความมั่นคงจะนุ่มนวลกว่า และมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นในการสร้างสันติภาพ
ในการมาครั้งนี้คณะกรรมาธิการยังมารับฟังความเห็นภาคส่วนต่างๆ ทั้งผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาส และกลุ่มผู้แทนผู้นำด้านการศาสนาอิสลาม, หน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่และกลุ่มนักการศึกษา, ตัวแทนกลุ่มการปกครองส่วนท้องถิ่น และเวทีสุดท้ายจะเป็นเวทีเปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วนมาร่วมกันเสนอแนวทางเพื่อให้สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้เกิดผลสัมฤทธิ์ผลได้จริง