ไม่พบผลการค้นหา
พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมเวทีเสวนาที่ปัตตานี ชูสามจังหวัดต้องเดินหน้าเจรจาสันติภาพ ความมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง ส่วนท้องถิ่นควรจัดทำบริการสาธารณะให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้เชิญชวนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น แคมเปญขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น และ ซูการ์โน มะทา ส.ส. ยะลา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “ทำไมต้องปลดล็อกท้องถิ่น”

เอกรินทร์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่คณะรัฐศาสตร์ได้เป็นพื้นที่พูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจ สำหรับตนเองจากที่ทำวิจัยและสนใจเรื่องการกระจายอำนาจ มองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำส่งผลสำคัญต่อเรื่องการกระจายอำนาจ ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการท้องถิ่นและข้าราชการส่วนกลาง ที่เกียรติยศศักดิ์ศรีไม่เท่ากัน รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาระหว่างพื้นที่ต่างๆ มีนักศึกษาถามตนเสมอว่าทำไมปัตตานีไม่มีรถไฟฟ้า หรือขนส่งสาธารณะของบ้านเราไม่ดี ไม่สะดวกสบาย

“โครงสร้างของประเทศไทยตอนนี้ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ การกระจายอำนาจมีอุปสรรคขัดขวางเต็มไปหมด พื้นที่ที่พัฒนาไปได้ไกลเกิดจากผู้นำที่มีต้นทุนความรู้ความสามารถ ต้นทุนเครือข่าย แต่สิ่งสำคัญคือการพัฒนาพื้นที่ไม่ควรขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านผู้นำเท่านั้น แต่โครงสร้างต้องเอื้อให้เกิดการกระจายอำนาจ อย่างน้อยท้องถิ่นต้องมีอำนาจ มีงบประมาณ มีทรัพยากร การพัฒนาจะได้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ รวมถึงต้องทำให้การกระจายอำนาจเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของนักการเมืองท้องถิ่นเท่านั้น” นายเอกรินทร์ กล่าว

ส่วน ซูการ์โน่ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาของประเทศไม่ใช่แค่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ปัญหาคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 และยุทธศาสตร์ชาติด้วย

“บริการสาธารณะต้องเป็นเรื่องของท้องถิ่น ต้องลดบทบาทของรัฐบาลกลางมากที่สุด เรื่องถนนแทนที่จะเป็นของท้องถิ่น กลายเป็นว่าอำนาจไปอยู่ที่กรมจากส่วนกลาง อย่างกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ไปรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง เห็นว่าต้องมาอยู่ที่ท้องถิ่น” ซูการ์โน่ กล่าว

ซูการ์โน่ กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้อำนาจมันซ้อนทับกัน และนายกท้องถิ่นต้องกลัวผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมหาดไทยให้อำนาจสอบสวน ตั้งกรรมการสอบ นายกท้องถิ่นได้ หากมีมูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ด้วย

“ภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์ รายงานที่ไปศึกษาเรื่องเลือกตั้งผู้ว่า จังหวัดจัดการตนเอง ของคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ จะเข้าพิจารณาในสภา เราเห็นควรว่าต้องนำร่องจังหวัดจัดการตนเอง เริ่มที่จังหวัดหรือ 2 จังหวัดไปก่อน ให้ภาคส่วนต่างๆ ระบบราชการ กระทรวงมหาดไทยได้เห็น” ซูการ์โน่ กล่าว

ด้าน พรรณิการ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงสร้างที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดไว้ว่าท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง กำหนดเป็นข้อๆ แต่ข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่นเปลี่ยนใหม่ อะไรที่ไม่ใช่เรื่องเงินตรา การต่างประเทศ การมีกองทัพ ท้องถิ่นต้องทำได้ทั้งหมด ต่อไปจะไม่ต้องสับสนแล้วว่าเป็นหน้าที่ เป็นภารกิจของใคร ภารกิจบริการสาธารณะเป็นของท้องถิ่นทั้งหมด และยังเสนอให้แบ่งรายได้ใหม่ให้ส่วนกลาง 50% และให้ท้องถิ่น 50% ซึ่งจากเดิมมีการกำหนดให้ส่วนกลาง 65 และท้องถิ่น 35 และในความเป็นจริงท้องถิ่นก็ยังได้ไม่ถึง 35% แต่ได้แค่ประมาณ 29% เท่านั้น และยังมีงบฝากจากส่วนกลางรวมอยู่ด้วย เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ทำให้เป้าหมาย 35 % ที่กำหนดให้ท้องถิ่นก็ไม่เคยทำได้จริง

พรรณิการ์ ระบุว่า หากเปลี่ยนได้แบบนั้นตามข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น ท้องถิ่นสามารถทำได้ทุกเรื่อง ทำไม่ได้แค่บางเรื่องเช่นการทหาร การคลัง การต่างประเทศ ต่อไปเมื่อปลดล็อกท้องถิ่นแล้ว มีอำนาจ มีงบประมาณ บริการสาธารณะทุกเรื่องจะจัดการจบได้ในจังหวัดปัตตานีหรือจังหวัดของตัวเอง ปัญหาที่เจอกันอยู่ เช่น การไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีในจังหวัด ต่อไปหากอำนาจ งบประมาณอยู่ที่นี่ จะสามารถจัดการได้เลย

“เมื่อท้องถิ่นมีอำนาจบริหารเต็มที่ ไม่เหนือบ่ากว่าแรงที่ท้องถิ่นจะสามารถจัดทำบริการสาธารณะ มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีได้ รวมไปถึงยังจะสามารถเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจปากท้อง เกิดการจ้างงาน บนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ สามารถคิดได้ว่าจะพัฒนาไปทางไหน คนในพื้นที่เป็นคนกำหนด เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การมีงานที่ดีในพื้นที่เป็นความฝันของใครหลายคน จบมามีงานทำในพื้นที่ ได้อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องอพยพไปทำงานที่เมืองอื่น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็สามารถอยู่ร่วมพัฒนาสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ตัวเองได้ หากเป็นเช่นนั้นนี่คือการปลดล็อกศักยภาพของทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” พรรณิการ์ กล่าว

พรรณิการ์ ระบุว่า ทุกวันนี้หากแค่เลือกตั้งผู้ว่าฯปัญหาจะพันกันไปอีกเพราะเรามีนายก อบจ.อยู่แล้ว แต่มันเหมือนเป็นอำนาจแฝด ที่มีสองอำนาจอยู่ในจังหวัดเดียวกันมันเลยลักลั่น อีกทั้งทุกวันนี้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอย่าง นายก อบจ. นายกท้องถิ่น ไม่ได้มีอำนาจและงบประมาณอย่างแท้จริง ถูกขี่คอโดยอำนาจที่มาจากการแต่งตั้ง

พรรณิการ์ กล่าวว่า ข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น ไม่ได้จะนำร่องทำจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งก่อน เราทำพร้อมกันหมดทั้งประเทศ เพราะวิธีคิดเรื่องการนำร่อง สุดท้ายอาจวนกลับไปที่เดิม อาจไม่มีจังหวัดใดเลยที่จะทำสำเร็จได้เลย เพราะพลังต่อรอง แรงกดดันจากประชาชนไม่พอ แล้วระบบราชการก็สับสนกันไปหมด จึงทำพร้อมกันทั้งประเทศ รัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็ยากที่จะปฏิเสธพลังของทั้งประเทศ คนเกือบ 70 ล้านคน แต่หากทำแค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งก่อน จะเป็นการง่ายกว่าที่รัฐบาลจะกล้าปฏิเสธ 

พรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในกรณีชายแดนใต้จำเป็นต้องเดิน 2 ขา คือเรื่องเจรจาสันติภาพ ความมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง สำหรับท้องถิ่น เป็นเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยหวังกับท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงท้องถิ่นทุกที่มีศักยภาพที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนให้ได้ดีกว่านี้ได้ หากปลดล็อกท้องถิ่นได้สำเร็จ