วันที่ 18 ก.ย.2562 ที่รัฐสภา เกียกกาย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) ยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน กรณีสันติบาลส่งหนังสือประสานกับมหาวิทยาลัยขอข้อมูลของนักศึกษามุสลิม โดยมี คุณพรรณิการ์ วานิช รองประะธาน กมธ. และ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ. จังหวัดนราธิวาส เขต 4 พรรค ประชาชาติ เป็นตัวแทนรับหนังสือจากนักศึกษา
นายอัสรอฟ อาแว ประธานสมาพันธ์ สนมท. กล่าวว่า ในช่วง 2-3 วัน ที่ผ่านมา มีเอกสารของส่วนราชการ หน่วยตำรวจสันติบาลส่งไปที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในเอกสารนั้นเจาะจงไปที่นักศึกษามุสลิม โดยขอข้อมูลว่า มีนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามเข้ารับการศึกษาหรือไม่ จำนวนเท่าใด อยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ และนับถือนิกายใด รวมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมของนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามหรือไม่ หากมี ขอทราบชื่อกลุ่มหรือชมรม ชื่อประธานพร้อมประวัติโดยสังเขป จำนวนสมาชิกในกลุ่ม และแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่ม
สมาพันธ์ฯ เป็นองค์กรกลาง ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน จึงเห็นว่าเป็นประเด็นดังกล่าวละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”
การกระทำดังกล่าวเป็นการสร้างความแตกแยก กล่าวหานักศึกษาโดยไม่มีมูล การมายื่นหนังสือวันนี้เพื่อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ เสนอว่า กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ทบทวนการกระทำ ยกเลิกเอกสาร
และหากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาแนวคิดสุดโต่ง ต้องยอมรับก่อนว่าแนวคิดสุดโต่งมีทุกศาสนา แต่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
ด้านนายกมลศักดิ์ กล่าวว่า พรรคเราอยู่ในพื้นที่ หลังจากเกิดเหตุการณ์ปรากฏในสื่อ ได้รับโทรศัพท์จากผู้ปกครองในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เขากังวลความเป็นอยู่ของลูกๆ โดยเฉพาะปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ การสร้างความรู้สึกดีเป็นสิ่งที่สำคัญที่รัฐต้องให้ความสำคัญ ความรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่ากัน คือต้นเหตุของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ในมหาวิทยาลัยมีหลายชมรม ไม่ใช่แต่ชมรมมุสลิม หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงให้ดำเนินการเฉพาะคนใดคนหนึ่ง อย่าไปเหวี่ยงแหเหมือนการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ รอง กมธ. เป็นตัวแทนของนายปิยบุตรรับมอบหนังสือ โดยระบุว่า เรื่องนี้กรรมาธิการได้ติดตามจากสื่อมวลชนมาระยะหนึ่งแล้ว และมีความวิตกกังวลต่อการเลือกปฏิบัติ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกกดขี่รังแกจากหน่วยงานรัฐโดยกฎหมาย
“เราทราบกันอยู่แล้วว่า สาเหตุต้นตอของปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีเรื้อรังในทุกวันนี้ คือการที่ประชาชนรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติทางกฏหมาย ถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และศาสนา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายพิเศษสามฉบับที่บังคับใช้มาแล้ว 15 ปี ไม่ว่าจะเป็น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง การตั้งด่านแล้วเรื่องปฏิบัติโดยการตรวจค้นเฉพาะคนที่มีหน้าตาที่ดูแล้วนับถือศาสนาอิสลาม สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำความรู้สึกคับข้องใจของประชาชนมากพออยู่แล้ว แล้วก็กรณีล่าสุดนี้ถือเป็นกรณีที่มีความรุนแรงเนื่องจากเกิดขึ้นในสถานศึกษา เสรีภาพที่มีอยู่น้อยหรืออาจจะไม่มีอยู่จะอย่างไรก็แล้วแต่เราคาดหวังว่ามันจะมีอยู่ในสถานศึกษา แต่เสรีภาพในการรวมตัวของนิสิตนักศึกษาก็ยังไม่สามารถที่จะทำได้ นี่จึงถือเป็นการคุกคามที่รุนแรงต่อคนที่จะเป็นอนาคตของประเทศชาติ”
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทราบดีว่า กลุ่มนักศึกษาเป็นพลังสำคัญในการพูดคุยหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาและแสวงหาสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นเมื่อมีการคุกคามกลุ่มนิสิตนักศึกษาจึงถือว่าเป็นอันตรายที่ไม่ใช่เพียงเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาเท่านั้น แต่เป็นอันตรายต่อการแสวงหาสันติภาพในพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
กมธ. ถือว่าเรามีหน้าที่โดยตรง เกี่ยวข้องทั้งเรื่องของกฎหมาย ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ระบุไว้แล้วว่าไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ กมธ. มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ เราหวังว่าไม่จำเป็นต้องเรียกสันติบาล แต่ควรจะมีการทำหนังสือเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน กมธ. จะพยายามทำงานให้เร็วที่สุด หลังรับหนังสือวันนี้จะทำงานต่อไป แม้ว่าจะหมดสมัยประชุม แต่ กมธ. จะดำเนินการต่อไป เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน น.ส. พรรณิการ์ กล่าว