ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับอาจารย์สอนปรัชญา ว่าด้วย การแบ่งขั้ว แบ่งคู่ตรงข้ามทางการเมือง ดี-เลว, เทพ-มาร, เผด็จการ-ประชาธิปไตย ที่เริ่มมีความสลับซับซ้อนขึ้นทุกวัน แนวคิดแบ่งขั้วเรียกในทางวิชาการ ‘เทววิทยาทางการเมือง’ มาจากไหน อยู่ในสังคมไทยนานหรือยัง แม้เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แต่ก็มีจุดที่ต้องระวัง เพราะจะบั่นทอนตัวระบอบประชาธิปไตย

สถานการณ์การเมืองในปี 2566 ดูเหมือนจะเปลี่ยน ‘คู่ตรงข้าม’ ทางการเมืองไปจากเดิม ท่ามกลางสภาพที่ยังต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นมรดกของ คสช. และผ่านรูปธรรมอย่าง 250 ส.ว. ทำให้การตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงอย่างหนัก การแยกมิตร-ศัตรู การจัดวาง ‘ขั้วทางการเมือง’ ของประชาชนดูจะสับสนอลหม่าน

‘วอยซ์’ พูดคุยกับ ‘ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์’ อาจารย์จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ไม่ใช่เพื่อวิเคราะห์สภาพการเมืองในปัจจุบัน มากเท่ากับการวิเคราะห์ ‘รากความคิด’ ของการแบ่งขั้วทางการเมือง หรือภาษาทางวิชาการคือ ‘เทววิทยาทางการเมือง’ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มันอยู่กับสังคมไทยมาอย่างไร และมีจุดควรระวังหรือจุดสุ่มเสี่ยงที่อาจกระทบต่อความแข็งแรงของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ 

เมื่อพูดถึงเทววิทยาทางการเมือง เกษมชี้ว่า ต้องย้อนกลับไปที่ความคิดทางการเมืองในโลกตะวันตกที่พูดถึงการแบ่งขั้ว ฝ่ายที่เรียกว่าดี/ถูกต้อง กับอีกฝ่ายที่ ไม่ดี/ชั่วร้าย 

ดูผ่านรากภาษาอังกฤษก็ได้ คำว่า right นอกจากแปลว่าขวา ยังมีความหมายถึงความถูกต้องด้วย ส่วนคำว่า left นอกจากแปลว่าซ้าย ยังมีความหมายถึงสิ่งที่อยู่นอกรีด ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกผลักออก การศึกษาวิธีคิดชุดนี้ได้กลายเป็นศัทพ์ทางวิชาการเรียกว่า ‘เทววิทยาทางการเมือง’

คาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) เป็นหนึ่งคนที่เขียนหนังสือเรื่องเทววิทยาทางการเมือง โดยนิยามการเมืองว่าเป็นเรื่องการแบ่งแยกระหว่าง ‘มิตรกับศัตรู’ เป็นโจทย์ของเทววิทยาการเมืองที่แยกออกเป็นสองขั้ว

เกษมบอกว่า การแยก ขวา-ซ้าย, ดี-ชั่ว, มิตร-ศัตรู เป็นรูปแบบหนึ่งของ ‘เหตุผล’ ที่ทำให้เราสามารถระบุความหมาย ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ เมื่อเข้ามาในพื้นที่การเมืองจึงทำให้ง่ายในการสื่อสารและทำความเข้าใจ การเมืองสมัยใหม่จึงติดอยู่ใน ‘ขั้ว’ แบบนี้อยู่ตลอดเวลา

ทั้งที่จริงแล้วเมื่อเราอยู่ในโลกประชาธิปไตย เรื่องราวอาจไม่ได้พิจารณาง่ายๆ เพียง 2 ขั้วเช่นนั้น เพราะมันเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดที่ทำให้จุดยืนทุกแบบอยู่ร่วมกันได้ จากซ้ายสุดมาสู่ขวาสุด กลายเป็นเฉดความเข้มข้น (สเปกตรัม) ที่หลากหลาย วิธีมองแบบนี้ทำให้รู้ว่า วิธีคิดของเราอยู่ตรงไหนในภูมิทัศน์ทางการเมืองทั้งหมด 


แบ่งขั้วคู่ตรงข้าม 5 ยุค เทววิทยาการเมืองไทย 

เมื่อพูดถึง เทววิทยาการเมืองในไทยหรือการแบ่งขั้วทางการเมืองในไทย เกษมเห็นว่า สามารถแบ่งได้ 5 ช่วงที่สำคัญคือ 

1.ช่วงระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 

ความชัดเจนของช่วงเวลานี้คือ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ซึ่งมาพร้อมกับอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตย กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ สิ่งที่ต่อสู้กันในช่วงเวลานั้น ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องอุดมการณ์เท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะการที่ฝ่ายชนชั้นนำกำลังรู้สึกถูกคุกคาม พร้อมๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในความร้อนระอุของสงครามเย็นที่หวาดกลัวทฤษฎีโดมิโน หลังจากที่กลุ่มประเทศอินโดจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่คอมมิวนิสต์ และประเทศไทยมีสถานะกลายเป็นรัฐกันชนที่สำคัญ จึงทำให้ความรุนแรงทางอุดมการณ์ในส่วนนี้ นำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 

2.ช่วงพฤษภาคม 2535 

ตอนนั้นการแบ่งขั้วเป็นการสู้กันระหว่าง ‘เทพกับมาร’ สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเมืองหลังจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สละสิทธิในการเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั่นคือ กระแสการรณรงค์เรื่องนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ประธานผู้แทนราษฎรต้องเป็นประรัฐสภา ซึ่งนี่เป็นการรณรงค์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคพลเอกเปรม 

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ประชาธิปไตยเริ่มจะเต็มใบมากขึ้น กระแสประชาธิปไตยเริ่มชัดเจนขึ้น และเมื่อเกิดการรัฐประหาร หนึ่งในผู้คณะรัฐประหารปฎิเสธการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายกลับขึ้นรับตำแหน่ง การกระทำนั้นจึงถูกมองว่า ‘ตระบัดสัตย์’ เป็นสิ่งไม่ดี ไม่ถูกต้อง  สุดท้ายก็ได้สร้างขั้วขึ้นมา ระหว่างเทพกับมาร จนที่สุดนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กระทั่งได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ศึกเทพมารก็จบลง 

สังเกตว่า ในสองยุคแรกการแบ่งขั้วสามารถจบลงได้เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย เพราะทุกอย่างเริ่มกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ และผลกระทบของการต่อสู้ในเชิงความคิด ในเชิงจุดยืนทางการเมืองไม่ได้ฝังรากลึก 

3.ช่วงของการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) 

ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด เพราะช่วงที่มีการอ้างถึงการเมืองคนดี มีการอ้างถึงความดีทางศีลธรรม (morally good) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนธิ ลิ้มทองกุล ถือเป็นผู้ที่ควรแสดงความรับผิดชอบอย่างยิ่งต่อการเมืองแบ่งขั้วอย่างฝังรากลึก เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากสิ่งที่สนธิได้สร้างไว้ 

ในช่วงเวลาที่สนธิเคลื่อนไหว เห็นได้ชัดว่า เป็นการเคลื่อนไหวของการเมืองคนดีที่พยายามตัดสิน ตีตราอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นการตัดสินทักษิณและกลุ่มที่สนับสนุน ขณะเดียวกันเป้าหมายของสนธิคือเรื่องการคืนพระราชอำนาจ การให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์เหนือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ทำให้เกิดการขยายตัวของการแบ่งขั้วนี้มากขึ้น 

ประกอบกับการสร้างอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นสีเสื้อ มือตบ ฯลฯ ทำให้การแบ่งขั้วนี้ไปไกลมากกว่าทัศนะทางการเมือง แต่กลายเป็นอัตลักษณ์ที่คนจำนวนหนึ่งผูกโยงตัวเองไว้ด้วย และผูกสีเสื้อไว้กับความเป็นชาติ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่ดี ไม่เคารพรักสถาบันฯ แม้ว่าคนเหล่านี้จะยืนอยู่บนบรรทัดฐานประชาธิปไตยก็ตาม ความท่วมท้นล้นเกินของปีกนี้ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งถูกลดความสำคัญ อย่างไรก็ตาม กระแสนี้ก็จบลงด้วยความอ่อนแอของกลุ่มพันธมิตรฯ เอง หลังจากที่ส่วนหนึ่งกลายมาเป็นพรรคการเมือง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไม่ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่อ 

4.ช่วง ของการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. 

ช่วงนี้เป็นคลื่นที่ต่อเนื่องมาจากพันธมิตรฯ แต่มีประเด็นที่แตกต่าง ในยุคของพันธมิตรฯ เป็นเรื่องของการเมืองคนดี การเมืองของความดีงาม ในช่วงนี้กลายเป็นเรื่องการเมืองของความชอบธรรม ความคิดแบ่งขั้วนี้เกิดขึ้นจากความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดี แต่เป็นเรื่องของความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งสร้างการแบ่งขั้วขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง 

หลังจากที่ยิ่งลักษณ์ยุบสภา นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ก็มีการปฏิเสธการเลือกตั้ง ทำแคมเปญ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ทั้งหมดนี้คือความพยายามที่จะเรียกคืนความชอบธรรม แต่สิ่งที่มาคู่กับคือ กลุ่ม กปปส. และการชุมนุมของสุเทพ เทือกสุบรรณ ในช่วงแรก หมดความชอบธรรมแล้วเมื่อปฏิเสธการกลับเข้าสู่กติกาประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง 

คนจำจวนหนึ่งในช่วงต้น ออกมาสนับสนุนการประท้วงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เมื่อสุเทพเคลื่อนไหวต่อหลังจากยุบสภาและไม่ยอมกลับเวทีการเลือกตั้ง ทำให้การปะทะกันเรื่องความชอบธรรมเกิดขึ้น สิ่งที่สุเทพทำอยู่เป็นการต่อต้านระบอบประชาธิปไตย การต่อสู้กันครั้งนี้เป็นการต่อสู้บนเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองระหว่างปีกที่โปรประชาธิปไตยกับปีกที่ต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยทำทุกอย่างที่เป็นการต่อต้านประชาธิปไตย จนนำไปสู่การรัฐประหารปี 2557 

5.ช่วงรัฐประหาร 2557 ถึงปัจจุบัน 

เรากำลังอยู่ในชุดเทววิทยาทางการเมืองอีกแบบคือ ฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งนี้ฝ่ายเผด็จการหมายถึง กลุ่มที่เป็นผลพวงมาจากคณะรัฐประหาร ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านตัวเองจากเผด็จการมาสู่พื้นที่ในระบอบประชาธิปไตย เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมาอย่างอนาคตใหม่ ก่อนจะถูกยุบแล้วกลายมาเป็นพรรคก้าวไกล 

การแบ่งขั้วลักษณะนี้มีความชัดเจน และมีน้ำหนักในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะคนส่วนหนึ่งต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มที่จะไม่ยอมรับกับความล้มเหลวของคณะรัฐประหาร ผลการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่บอกชัดเจนว่าฐานความต้องการของประชาชนคืออะไร 


‘แบ่งขั้ว’ เรื่องปกติ แต่อาจเสี่ยงบั่นทอนบรรทัดฐานประชาธิปไตย

“สำหรับผมตั้งแต่ยุคที่ 3 มาจนถึงปัจจุบัน การเมืองแบ่งขั้วมีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเรื่องของจุดยืน การตัดสินทางการเมือง แต่ได้สร้างอัตลักษณ์ความผูกพัน เกิดการเมืองแฟนด้อมที่สามารถสร้างความรู้สึกทางการเมือง (political sentiment) โดยรวมตั้งแต่ยุคที่ 3 ถึงปัจจุบัน เทววิทยาการเมืองของการแบ่งขั้วมันฝังลึกมากขึ้นเรื่อยๆ มีอัตลักษณ์มีการแสดงออกจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน และยากที่จะสลาย คำถามคือการแบ่งขั้วที่เกิดขึ้นนี้จำเป็นต้องสลายไหม คิดว่าไม่ถึงขั้นจำเป็น แต่ต้องไม่สร้างสิ่งที่เรียกว่า การแบ่งแยกอย่างชัดเจน การมีจุดยืนทางการเมืองเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่จะส่งผลเสียคือ เมื่อมีการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน และการแบ่งขั้วนี้นำไปสู่การแบ่งแยกกีดกัน ไม่มีพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีเพียงตั้งป้อมเผชิญหน้ากัน และทุกครั้งที่เป็นแบบนี้บรรทัดฐานประชาธิปไตยจะอ่อนแอ”

เกษมย้ำว่า บรรทัดฐานประชาธิปไตยที่สำคัญส่วนหนึ่งคือ ความพยายามที่จะโอบรับทุกคนเข้าหากัน ให้ทุกคนพูดคุยแลกเปลี่ยนวิพากษ์ วิจารณ์ แสดงออก ใช้สิทธิเสรีภาพร่วมกัน แต่เมื่อเกิดการแบ่งแยกอย่างชัดเจน จะทำให้เกิดภาวะอำนาจนิยมเกิดขึ้น เกิดความเป็นเผด็จการของความเห็น ไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างน้อยหรือเสียงข้างมากก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ผลเสียของระบอบประชาธิปไตย

“พูดง่ายๆ เผด็จการในโลกสมัยที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการประชาธิปไตย คือกระบวนการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ฟังเสียงจากอีกฝ่ายหนึ่ง และใช้พลังอำนาจของตัวเองไม่ว่าจะเป็นมวลชน กำลัง หรืออะไรต่างๆ เข้าควบคุมอีกฝ่ายหนึ่ง กดทับอีกฝ่ายหนึ่ง ฉะนั้นทางออกของเรื่องนี้คือทำอย่างไรให้แต่ละฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ และลดทอนความรู้สึกของการกีดกัน ด้อยค่า และการกดทับอีกฝ่ายหนึ่ง”

เกษมกล่าวต่อว่า สังคมไทยจะไม่ได้ออกจากเทววิทยาชุดนี้ การแบ่งขั้วจะยังคงมีต่อไป และไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย เพราะนี่คือเรื่องธรรมดาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่จะต้องไม่ให้เกิดการผลักไปถึงจุดที่ไปทำลายบรรทัดฐานประชาธิปไตย 

เขายกตัวอย่างกรณีที่อยู่ในจุดอันตราย คือ สหรัฐอเมริกา หากปล่อยให้ทรัมป์ผลักสังคมออกไปสู่จุดที่มีแบ่งขั้วชัดเจน จะเกิดความแตกแยกของสังคม สิ่งพรรคริพับลิกันทำในช่วงหลังคือ การไม่สนับสนุนทรัมป์ แม้การสนับสนุนทรัมป์อาจทำให้ชนะการเลือกตั้ง เป็นผลดีต่อพรรคเอง แต่ไม่เป็นผลดีต่อสังคมโดยรวม เพราะประเด็นที่ทรัมป์เสนอนั้นกระทบกับคนอเมริกันจำนวนหนึ่งที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบาย รวมทั้งแบ่งแยกระหว่างอเมริกันกับโลกภายนอก นี่คือตัวอย่างของการมีขั้วที่ชัดเจน และเราสังเกตเห็นว่ามีความพยายามที่จะเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ มีความพยามที่จะไม่ผลักเรื่องของขั้วให้เป็นไปอย่างสุดโต่งเกินไป 

เกษม อธิบายต่อว่า สำหรับในสังคมไทยเรากำลังอยู่ในจุดที่เริ่มเห็นความแบ่งขั้วชัด แต่ยังไม่เกินเยียวยา สิ่งที่เราจะประคองสถานการณ์ได้ก็คือ ต้องกลับมาพูดกันเรื่องบรรทัดฐานประชาธิปไตย คุณค่าประชาธิปไตย กติกาของประชาธิปไตย และพูดถึงหลักการคือ ตัวรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวตั้งต้นของสังคมประชาธิปไตย


‘ภราดรภาพ’ หนึ่งในคุณค่าประชาธิปไตยที่ขาดหาย 

เมื่อถามว่าการแบ่งขั้วที่เกิดขึ้นดูจะมีแนวโน้มที่เป็นไปในทางที่ดีหรือไม่ หากเทียบจากยุคสนธิ และยุคสุเทพกับการแบ่งขั้วในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนมวลชนที่เคยอยู่กับจุดยืนดังกล่าว เลือกที่ย้ายเข้ามาอยู่ในขั้วประชาธิปไตย 

เกษมชี้ว่า ธรรมชาติของประชาธิปไตยอยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ การจะชนะทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือการที่ประชาชนส่วนใหญ่หันมาสนับสนุน ดังนั้นต้องหว่านล้อม ชักชวน ให้คนคล้อยตามและคอยสนับสนุน ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ในช่วงของสนธิเองก็สำเร็จที่ทำให้คนส่วนหนึ่งเห็นว่าปัญหาสำคัญที่สุดคือการได้คนไม่ดีมาปกครอง ในกรณีของสุเทพนั้นคือ การชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล และต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนในส่วนนี้กลับเป็นการต่อต้านประชาธิปไตย แต่คนก็ยังเลือกแนวทางแบบนี้ เพราะการอยู่กับ กปปส. ทำให้รู้สึกว่าเขาคือมวลมหาประชาชนที่มีเสียงที่ดังกว่าเสียงประชาชนคนอื่นๆ มองคนไม่เท่ากัน ขณะที่ฝ่ายซึ่งโปรประชาชธิปไตยก็มองว่า เราอยู่ในกติกาเดียวกันคนมันต้องเท่ากัน สุดท้ายมันก็เวทน้ำหนักกันในแง่ทิศทางทางการเมือง

ขณะที่ในปัจจุบันกลุ่มที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นเมืองไทยดีขึ้นในแง่ของตัวโครงสร้าง ในแง่ของอนาคต และสิ่งที่ก้าวไกลทำคือการพูดถึงอนาคตที่ดีกว่า พูดถึงการเปลี่ยนที่ควรจะเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่พูดไม่ผิด ทุกคนต้องการสิ่งเหล่านี้หมด สิ่งที่พรรคก้าวไกลทำก็คือ การหว่านล้อมให้คนมาสนับสนุนแนวทางของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ทำเหมือนกัน เพราะนี่คือวิถีประชาธิปไตยที่คนส่วนมากเป็นผู้กำหนดทิศทางสังคมการเมืองที่ตัวเองอยู่  

การเลือกตั้งจึงเป็นหนึ่งในกระบวนกาารปฏิรูปที่ดีที่สุด เพราะการเลือกตั้งเกิดขึ้นทุกครั้งที่คุณต้องการมีสภาชุดใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมแต่ละช่วง กลุ่มพลังต่างๆ หรือปัญหาต่างๆ ก็ถูกยกขึ้นมา พรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้ในครั้งหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าคุณจะอยู่ในอำนาจได้ตลอดไป หากไม่ปรับตัวนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนจำนวนมาก หรือผลงานของไม่สามารถที่จะสร้างให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ทิศทางของประชาชนก็จะเปลี่ยนไป 

“ฉะนั้นการแบ่งขั้วโดยทั่วไปแล้วไม่มีปัญหา เพราะมันคือการเมืองที่คุณสามารถแสดงจุดยืน แสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือ การขาดหายไปของคุณค่าประชาธิปไตย นั่นคือ ภราดรภาพ ความเป็นพี่เป็นน้อง (Fraternity) แม้จะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยที่สุด แต่นับวันยิ่งที่ความสำคัญมากที่สุด นั่นคือการมองเห็นคนอื่นเป็นมิตร มีสายสัมพันธ์ร่วมกัน เพราะในการแบ่งแยกเรามักจะมองอีกฝ่ายเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือถึงขั้นมองเป็นศัตรู แต่อย่าลืมว่า เมื่อเราอยู่ในสังคมเดียวกันเราควรมีความเป็นพี่เป็นน้องกัน ในด้านหนึ่งมันทำให้เราเปิดรับอีกฝ่ายได้มากขึ้น คุณอาจจะไม่เห็นเห็นด้วยกับผม แต่อย่างไรเราก็เป็นเพื่อนกัน รู้จักกัน อย่างไรเราก็ต้องอยู่ร่วมกัน นี่คือสิ่งที่ขาดหายไปในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่ในไทย แต่เป็นในหลายประเทศ”

“ผมไม่เคยเห็นด้วยเลยที่จะมีการไล่คนเห็นต่างออกนอกประเทศ หรือกีดกันใครออกจากเวทีการเมือง เพราะยิ่งคุณผลักเขาออกมาเท่าไหร่ก็จะเป็นปัญหาย้อนกลับมามากขึ้นเท่านั้น แต่การที่เขาอยู่ร่วมกับเราในกติกา ภายใต้บรรทัดฐานเดียวกันมันทำให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาแก้ปัญหากัน แทนที่จะผลักออกไป ดึงเขามาร่วมแล้วทำให้เขามีพื้นที่อยู่ร่วมกับเรา แล้วสร้างประโยชน์ให้กับสังคม แม้แบ่งแยกขั้วของการเมืองไทยในปัจจุบันจะยังไม่ถึงขั้นของการผลักออก แต่ก็มีการแบ่งแยกที่เริ่มทำให้แต่ละขั้วไม่สามารถพูดคุยกันได้ ไม่สามารถสื่อสาร หรืออยู่บนบรรทัดฐานเดียวกันได้”


บรรยากาศ ‘สุดโต่ง’ ทำคนเบื่อการเมือง-ไม่เชื่อในระบอบ 

เกษมกล่าวถึงการยึดถือคุณค่าหลักบางอย่างที่แตกต่างกัน แล้วคุณค่าหลักเหล่านั้นกลายเป็นความสุดโต่งทางการเมือง จนทำให้ไม่สามารถจะคุยกันได้ เมื่อนั้นคนจะเริ่มเอือมระอากับการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะคนจะรู้สึกว่าไม่ comfortable (สบายใจ) 

“กองเชียร์ไม่ว่าจะเป็นนางแบก ด้อมส้ม ถึงจุดหนึ่งต้องคุยกันให้ได้ คุณอยู่แบบนี้ไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วมันทำให้การรับรู้ในสังคม ความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบการเมืองที่เราอยู่มีปัญหา”

เกษมย้ำว่า เสรีภาพในการแสดงออก freedom of speech เป็นเรื่องพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย แต่หลายครั้งก็ต้องตั้งคำถามว่าการแสดงออกต่างๆ ไม่ใช่ freedom of speech แต่เป็นการละเมิดอีกฝ่ายหนึ่งหรือเป็น hate speech หรือไม่ แค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ตรงนี้ ถ้าไม่พิจารณาให้ดี จะกลายเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการสร้างสรรค์ ถึงแม้ว่าจะได้ใจคนจำนวนหนึ่งก็จะอยู่ใน echo chamber (เสียงสะท้อนในกลุ่มคนที่คิดเหมือนกัน) และในภาพรวมของสังคมกลับทำให้เกิดการปิดกั้นเพิ่มขึ้น ทั้งคู่เริ่มสร้างกำแพงให้เกิดโดยในกำแพงของแต่ละฝ่ายคือ echo chamber ของตนเองทั้งนั้น แล้วมันไม่มีทางออก

เมื่อถามถึงความเห็นต่อข้อขัดแย้งที่แหลมคมที่สุดตอนนี้คือ พรรคการเมืองที่เคยเป็นนั่งร้านเผด็จการ เป็นพรรคสืบทอดอำนาจลงมาอยู่ในกติกาประชาธิปไตยและได้จัดตั้งรัฐบาลจึงไม่อาจยอมรับได้ ความลักลั่นนี้นำไปสู่ความคิดเรื่องความเป็นประชาธิปไตยกว่า

เกษมเห็นว่า ส่วนนี้คือ political judgement (การตัดสินทางการเมือง) ที่มีต่อคนอื่น นี่คือทัศนะหนึ่งซึ่งไม่ผิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้จะอยู่เหนือความคิดของคนอื่น 

“เรารู้ว่าสองพรรคนี้มันคือสืบทอดอำนาจจากเผด็จการ แต่เมื่อเขาอยู่ในกติกาประชาธิปไตย ถ้าเขาปฏิบัติตาม เราก็ยังยอมรับได้ เพราะคุณเปลี่ยนผ่านมาสู่จุดนี้ เพราะอยู่ในกติกาเดียวกัน แต่อะไรก็ตามที่คุณทำแล้วมันไม่ถูกต้อง เราก็ตั้งคำถามได้เหมือนกัน แต่อย่าบอกว่า ฉันเป็นประชาธิปไตยมากกว่าอีกคนหนึ่ง มันไม่มีมากกว่า มันมีแต่เราจะเป็นประชาธิปไตยที่เท่ากันยังไง เท่ากันในการเข้าใจกฎกติกา คุณค่าต่างๆ ร่วมกัน อันนี้สำคัญกว่า”

“ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองฝ่าย ทั้งด้อมทั้งนางแบกจะต้องเรียนรู้ก็คือว่า คุณค่าของประชาธิปไตยที่เรามี เราไม่ได้ต่างกัน แต่ทัศนะการแสดงออกบางอย่างมันทำให้ต่าง และในความต่างอันนั้นมันไปด้อยค่า ไปกดทับอีกฝ่ายหนึ่ง อันนี้ต่างหากที่เราต้องเรียนรู้ และถึงจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ตัวรัฐบาล รัฐสภา และองค์กรอื่นๆ ต้องให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน พรรคการเมือง ทุกฝ่ายต้องทำร่วมกัน องค์กรใดองค์กรหนึ่งทำไม่ได้หรอก ทุกฝ่ายต้องทำร่วมกัน เช่น รัฐสภาทำแต่พรรคการเมืองไม่ร่วม เขาก็ไม่ได้สนใจ หรือพรรคการเมืองพรรคหนึ่งทำ อีกพรรคหนึ่งไม่ทำ มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร”

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาสังคมและระบอบประชาธิปไตยถูกกระทำจากรัฐประหารและเผด็จการ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งผ่านไป 2 รอบก็มีคำอธิบายว่า ควรเอากลุ่มที่เคยทำรัฐประหารเข้ามาอยู่ภายใต้กติกาประชาธิปไตย ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับคนจำนวนมากคือ มีความรู้สึกว่าเวลานี้ก็ยังไม่เข้าสู่กติกาประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ และความรู้สึกความเจ็บแค้นในทางการเมืองก็ยังไม่ได้ถูกจัดการสะสาง จะอธิบายเงื่อนปมนี้อย่างไร

เกษม เห็นว่า อันดับแรกจำเป็นต้องมีหลักการและกฎกติกาที่เป็นธรรมก่อน หมายความว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดีในหมายที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน เรื่องใหญ่ที่สุดที่สร้างปัญหามาถึงทุกวันนี้ก็คือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม 

รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม กฎกติกาถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับกลุ่มของคณะรัฐประหาร และเป็นการง่ายที่คนเหล่านี้จะสืบทอดอำนาจของตัวเองเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ทำให้เขาสามารถรักษาอำนาจได้ หนึ่งในรูปธรรมที่ชัดเจน คือ การมี สว.จากการแต่งตั้งที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นนี่จำเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นธรรม อย่างน้อยที่สุดคือเทียบเท่าปี 2540 

เรื่องที่สองคือ ความยุติธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในคุณค่าหลักทางการเมือง ถ้าสังคมนี้ไม่สามารถสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นเป็นรากฐานของสังคมได้ ความคับแค้น ความรู้สึกไม่พอใจ ไม่มีทางแก้ไขได้ ทุกวันนี้เราบอกว่าสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งได้ แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถก้าวข้ามขัดแย้งได้ ถ้าเราไม่คืนความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกระทำ ที่ผ่านมาเราไม่เคยให้ความเป็นธรรมกับคนในสังคมที่สูญเสียระยะเวลา 17-18 ปี หลังจากการรัฐประหาร 2549 ถึงเวลาที่ภาคการเมือง และทุกฝ่ายจะต้องคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนทุกคนในประเทศนี้ ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว จะเยียวยาอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร หรือจะป้องกันไม่เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร หากสามารถทำสิ่งนี้ได้ ความคับแค้น ความรู้สึกที่ยังเป็นปัญหาอยู่จะถูกแก้ไขไปตามลำดับ ส่วนคนที่ทำความผิด หรือทำรัฐประหาร ก็จำเป็นต้องมีกระบวนการตุลาการที่เข้ามาจัดการ ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีสิทธิที่จะต่อสู้ในกระบวนการ 

ส่วนในกลุ่มผู้ถูกกระทำ โดนเฉพาะกลุ่มที่โดนคดีมาตรา 112 ก็ต้องทำกระบวนการให้ถูกต้อง ทำให้เขาสามารถต่อสู้ได้ในกระบวนการยุติธรรม และทำให้เห็นว่าความผิดเหล่านี้ หากผิดจริงก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่ผิดก็ต้องยกฟ้องและคืนสภาพอันเป็นปกติให้เขา หรือคดีเรื่องความรุนแรงทางการเมืองก็ต้องทำให้ถูกต้อง คนที่ใช้กำลังเกินเลย ใช้อำนาจรัฐในการทำร้ายประชาชนก็ต้องถูกพิพากษา 

“เราจำเป็นต้องสร้างกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้น และขณะเดียวกันก็ต้องโอบรับให้ความเป็นธรรม ให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะสุดท้ายคนที่เป็นเหยื่อกับคนที่เป็นผู้กระทำก็ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมนี้”

“ผมคาดหวังรัฐบาลประชาธิปไตยต้องทำหน้าที่นี้ด้วย เพราะนี่คือภาระกิจสำคัญไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ตาม นี่คือการที่จะทำให้สังคมสงบสุข และหากรัฐบาลนี้ถ้าไม่ทำสิ่งนี้ โอกาสที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลสมัยหน้าหรือที่นั่งในสภาคงไม่ได้เท่านี้อีกแล้ว เมื่อคุณมีโอกาสไม่ว่าจะได้มาอย่างไรก็ตาม อย่าปล่อยให้โอกาสหลุดมือไป รัฐบาลชุดนี้มีหลายปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนเช่นกัน เพราะจะช่วยทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เรื้อรังมาตลอด 20 ปี สามารถที่จะหาทางออกที่ดีขึ้น แม้มันจะไม่สำเร็จ แต่มันจะมีทางไปของมันได้”


โจทย์ ‘ความชัดเจน’ ของเพื่อไทย - 3 ภารกิจหลักรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่าน 

เมื่อถามว่า หากเรากำลังพูดถึงเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และดูเหมือนคนจำนวนหนึ่งคาดหวังว่า นี่จะหนึ่งในภารกิจของพรรคเพื่อไทย คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยเงื่อนไข หรือความท้าทาย และแรงเสียดทานที่พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญ

เกษมย้ำว่า สิ่งที่เพื่อไทยต้องทำคือ การสร้างความชัดเจนว่า ภารกิจของตัวเองคืออะไร เพราะที่ผ่านมา ปล่อยให้ทุกอย่างที่ต้องการจะทำไม่มีความชัดเจน 

เกษมเห็นว่า มี 3 ภารกิจสำคัญที่เพื่อไทยต้องทำ หากปล่อยผ่านเรื่องเหล่านี้ก็พร้อมที่จะวิจารณ์ 3 เรื่องที่ว่าประกอบด้วย

1. รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่อย่างน้อยเทียบเท่า 2540 แต่ควรต้องดีกว่า เพื่อที่จะแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมา 20 ปีผ่านรากฐานของสังคม เพราะนี่คือการเปลี่ยนโครงสร้าง และการแก้ปัญหาที่โครงสร้าง เริ่มจากการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน 

2. ปัญหาเร่งด่วนก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเพื่อไทยมีผลงานที่ดีกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจนี้เป็นภารกิจที่หนักหนา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากโควิด ปัญหาจากการเมืองระหว่างประเทศ สงครามยูเครน เรื่องพลังงาน รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากการบริหารอันไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลที่แล้ว เป็นการบ้านที่หนัก เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุด ความคาดหวังทางการเมืองของคนจำนวนมากคือ มีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ไม่ขัดสน หรือไม่เดือดร้อน และเขาสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง 

3. ภารกิจทางการเมืองที่มันโยงกับความยุติธรรม โยงกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง กลับไปตั้งแต่เรื่องของคนเสื้อแดง คนที่โดน 112 เรื่องนี้ต้องคืนความเป็นธรรมให้กับเขา

“ผมไฮไลท์สามเรื่องนี้ ถ้าจะแก้ไขปัญหาสังคม ปัญหาการเมืองในสองทศวรรษที่ผ่านมา นี่คือจังหวะที่ดีที่สุดที่เพื่อไทยต้องทำ ถ้าไม่ทำหรือล้มเหลว นี่คือราคาเดิมพันที่ใหญ่มากของเพื่อไทยตั้งแต่ตั้งพรรคการเมืองมา”

เกษมเห็นว่า ทั้งสามเรื่องมันทำไปพร้อมกันได้ แต่แยกฟังก์ชันกัน คนที่รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจก็ดูแลไป คนที่รับผิดชอบเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องสร้างความเป็นธรรมก็ทำไป เรื่องของรัฐธรรมนูญ คือเรื่องที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ดังนั้น สิ่งที่เพื่อไทยต้องทำเรื่องรัฐธรรมนูญภารกิจคือ ความเห็นชอบ ฉันทามติของคนทุกฝ่าย เริ่มต้นที่การทำประชามติที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้วนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

ส่วนการบริหารราชการแผ่นดินทั่วไป ส่วนหนึ่งก็คืองานปกติ  ส่วนนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลแถลงในรัฐสภา นั่นคือสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะนั่นคือข้อตกลงที่มีกับประชาชน 


โลกอุดมคติกับโลกการเมือง สองสิ่งที่ไม่เคยอยู่ใกล้กัน

เมื่อถามว่าทำไมโลกของอุดมคติทางการเมืองกับสถานการณ์จริงทางการเมือง จึงไม่เคยอยู่ใกล้กันเลย

เกษมเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสังคมไทย แต่เกิดขึ้นในทุกสังคม และสำหรับเขาเองอุดมคติไม่มีอยู่จริง เพียงแต่การมีโลกในอุดมคตินั้น ทำให้เราขับเคลื่อนโลกของการเมือง หรือโลกที่เป็นจริงไปใกล้จุดที่เราคาดหวังมากที่สุด สิ่งนี้ต่างหากที่สำคัญ เพราะหากเราไม่มีความคาดหวังอะไรเลย เราก็จะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง

“การมีอยู่ของความหวัง การมีอยู่ของอุดมคติแม้ไม่มีอยู่จริง แต่มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ลวงเรา เวลาพูดถึงอุดมคติ มันไม่ใช่สิ่งที่ลวงโลก อุดมคติคือ บางอย่างที่เราคิดว่าควรจะเป็น บางอย่างที่เราอยากทำให้มันเกิดขึ้น แม้ว่าในท้ายที่สุดมันจะไม่ได้เท่านั้นก็ตาม แต่อย่างน้อยมันผลักสังคม ทำให้เราก้าวหน้าขึ้น ทำให้เราขยับจากจุดที่เคยเป็นมาสู่ที่เป็นอยู่” 

การมีอุดมคติ เป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในพื้นที่การเมือง เกษมเห็นว่า ต้องเข้าใจว่าอะไรคือ 'หลักการ' นั่นคือสิ่งที่เป็นพื้นฐานให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ หลักการที่เป็นรูปธรรมที่สุดอันหนึ่งคือ ตัวรัฐธรรมนูญ 

เรื่องของ 'กฎกติกา' ที่ต้องปฏิบัติเมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น จะทำตามอำเภอใจไม่ได้ หลายอย่างอาจทำได้ในพื้นที่ส่วนตัวของคุณ เช่น คุณจะแต่งตัวยังไงก็ได้ในห้องนอนของคุณ แต่คุณจะแต่งตัวยังไงไม่ได้เวลาคุณอยู่ในพื้นที่สาธารณะ บนท้องถนน บนรถโดยสารสาธารณะ

เรื่องของ 'บรรทัดฐาน' ก็คือการที่คุณต้องอยู่ในสิ่งที่พึงจะเป็นเวลาอยู่ร่วมกัน 

เรื่องของ 'คุณค่า' สิ่งที่ต้องเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้สังคมประชาธิปไตยอยู่ได้ เช่นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ เรื่องความยุติธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คนในสังคมควรจะเข้าใจ 

“ดังนั้น รูปธรรมสิ่งหนึ่งที่มันหายไปก็คือ civic education ตรงนี้ตัวอย่างมีชัดเจน สังคมเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่เพียงแค่สังคมแพ้ในสงครามครั้งนั้น แต่ทำอย่างไรสิ่งที่เรียกว่า nazisism fasistsm จะไม่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทำการฟื้นประเทศเยอรมันในช่วงนั้น ก็คือ การสร้าง civic education คือ ความรู้ความเข้าใจในระบบการเมืองที่ตัวเองอยู่ อะไรคือหลักการ อะไรคือสิ่งที่พึงจะทำ อะไรคือความรับผิดชอบ อะไรคือบรรทัดฐาน อะไรคือสิ่งที่คุ้มครองชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคม เรื่องพวกนี้สถาบันทางการเมืองจำนวนหนึ่งควรแสดงความรับผิดชอบในเรื่องพวกนี้มากขึ้น” 

เกษมกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่น่าเศร้าใจ คือ civic education ของไทย ถึงแม้ว่ามีหลายองค์กรพยายามจะทำสร้างหลักสูตร สร้างเนื้อหาขึ้นมา แต่กระบวนการเรียนรู้พวกนี้ยังอ่อนมากๆ รัฐสภาเคยทำ สถาบันพระปกเกล้าเคยทำ ธรรมศาสตร์เคยทำในหลักสูตรการศึกษาทั่วไป แต่ในภาพใหญ่ของสังคมต้องการสิ่งนี้ด้วย ถ้าเราจะสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย 

“ทุกคนมีความคาดหวังในอุดมคติ แต่ในความเป็นจริงมันมีข้อจำกัดเยอะมาก การจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้หลายคนก็คาดหวังว่าจะได้นักการเมืองมีคุณภาพ มีความเหมาะสมกับความสามารถของตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่เอาครูมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เอาตำรวจมาเป็นรัฐมนตรีศึกษา ผมบอกอย่างนี้ ในรัฐบาลผสมแบบนี้ และปัจจัยภายใต้บุคลากรที่แต่ละพรรคเสนอมา มันเป็นข้อจำกัด สิ่งหนึ่งที่ต้องคุยกัน ไม่ใช่แบ็คกราวน์ของเขา ครูมาคุมกลาโหมได้ไหม ได้ แต่ในการคุมนั้นคุณมีความสามารถในการบริหารแค่ไหน ทีมงานที่จะมาช่วยบริหารเป็นยังไง การที่เขาเป็นอะไรมาก่อน นั่นคือศักยภาพและประสบการณ์ของเขา แต่เมื่อเขามาอยู่ในตำแหน่งนี้ เราต้องฟังว่าเขามีวิธีบริหาร จัดการนโยบายในเรื่องพวกนี้อย่างไร อันนี้ต่างหากที่จะต้องถามและเขาต้องตอบต่อสังคม ถ้าเขาตอบได้ จัดการบริหารได้ มันก็สร้างความยอมรับให้เกิดขึ้น” 

“ทุกวันนี้เราอยู่กับมัน (ความไม่สมหวัง) อยู่แล้ว มันไม่เคยสำเร็จ คือ เราแค่ทำได้ดีที่สุดในศักยภาพที่เราทำได้ และนั่นคือ the best possible (ความเป็นไปได้ที่ดีที่สุด) เราอยู่กับ the best possible เราไม่ได้อยู่กับความสมบูรณ์ เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน ความเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เรารับมือกับมันคือ ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ดีที่สุด ทำให้สามารถตอบโจทย์ในการดำรงชีวิตของทุกคนได้”

“การเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปสังคมมันใช้เวลาของมัน ทุกสังคม เราไม่สามารถไปเร่งขั้นตอนการปฏิรูป บางเรื่องอาจจะใช้เวลาสิบปี ห้าปี บางเรื่องอาจใช้เวลายี่สิบสามสิบปี ยกตัวอย่างการปฏิรูป คาดหวังแค่ 5 ปี 10 ปีได้หรือ คุณจะเห็นผลของการปฏิรูป อาจใช้เวลาอย่างต่ำ 20 ปี เพราะเจเนอเรชั่นของคนไง คนหนึ่งอยู่ในระบบการศึกษา 12 ปี กว่าเขาจะเรียนจบ กว่าจะมีชีวิตเป็นประชากรที่มีคุณภาพ 30 ปี กว่าจะเห็นผล 30 ปี เพราะฉะนั้น ราคาและเวลาของการปฏิรูปแต่ละเรื่องมันไม่เท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ ภายใต้ระยะเวลาของรัฐบาลแต่ละเทอมคือ  คุณทำให้กระบวนการนี้มีความคืบหน้า และความคืบหน้าอันนี้ทุกคนสามารถคาดหวังได้ ถึงความสำเร็จของการปฏิรูป”

เมื่อถามว่า มีคนสรุปว่า ความขัดแย้งทางการเมืองภายในขั้วประชาธิปไตย ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล คือการปะทะกันระหว่าง ปฏิบัตินิยม กับอดุมคตินิยม คิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร 

เกษมเห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ที่ต่างกันระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล ยุทธศาสตร์ของเพื่อไทยคือ pragmatism (ปฏิบัตินิยม) เพราะทำทุกอย่างให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ สุดท้ายแล้วไม่ว่าทำอะไร ends justify means (เป้าหมายจะตัดสินวิธีการ) คุณเป็นรัฐบาล ถ้าคุณทำสำเร็จตามที่คุณมุ่งหมาย ตามที่ตั้งใจไว้ เสียงสนับสนุนจะมาเอง นี่คือวิธีคิดหรือยุทธศาสตร์ของเพื่อไทย 

ขณะที่ก้าวไกล สิ่งเดียวที่จะทำให้คนเห็นคือ อนาคตและความหวัง เป็นอุดมคติ แต่สิ่งที่หวังจะเกิดขึ้นจริงไหม เรายังไม่รู้ อย่างน้อยที่สุดเราตั้งมั่นอยู่ตรงส่วนนี้ และคนส่วนหนึ่งก็อยากเห็นอนาคตแบบนั้น เพราะที่เป็นอยู่มันเละเทะ มีแต่ถดถอย 

“แต่ปัญหาของสองพรรคนี้ต่างกัน ปัญหาของก้าวไกลคือ คุณไม่สามารถลงมือทำได้สักที แต่ปัญหาของเพื่อไทยคุณเป็นปฏิบัตินิยม คุณไม่แคร์เรื่องอื่น คุณแคร์เป้าหมาย ในระหว่างทางมันก็มีปัญหาเชิงกระบวนการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด เราก็รู้ สุดท้ายแล้วมันไม่มีผิด ไม่มีถูก ตอนนี้คือยุทธศาสตร์ทั้งสองฝ่ายมันวางต่างกัน ต้องมาดูดอกผล ตอนนี้เราเห็นของเพื่อไทยเพราะคุณเป็นรัฐบาล เรายังไม่เห็นของก้าวไกล แต่วันที่เราเห็นของก้าวไกล เราก็จะรู้ว่าตกลงแล้วยุทธศาสตร์แบบนี้จะสัมฤทธิ์ผลผ่านนโยบายผ่านการบริหารเพียงไหน รอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ตอนนี้เราพิสูจน์เพื่อไทยได้เพราะเป็นรัฐบาล” เกษมกล่าว