คำอธิบายส่วนใหญ่ เน้นย้ำเรื่อง “กฎการบิน” ที่ต้องการให้นักบินพักผ่อนเพียงพอก่อนจะไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็มีบางฝ่ายโต้แย้งว่า แล้วเหตุใดการจะพักผ่อนให้เพียงพอถึงต้องนั่งชั้นหนึ่ง (first class) เท่านั้น ให้ไปนั่งชั้นธุรกิจ (business class) ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ เครื่องบินการบินไทยทั้งหมด 121 ลำ มีเครื่องที่มีชั้นหนึ่งเพียง 16 ลำ คิดเป็นร้อยละ 13 เท่านั้น แปลว่าถ้าเจอเครื่องบินลำอื่นๆ จะต้องค้างคืนในประเทศนั้นๆ หรือ
ที่สุดแล้ว พบอ่านข้อมูลดูมากๆ ก็คล้อยตามอย่างที่หลายคนเชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจนกระทบต่อผู้โดยสารกว่า 300 ชีวิต น่าจะมาจากความขัดแย้งภายในของการบินไทยเองเสียมากกว่า
(จนแม้แต่ สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) การบินไทย ก็ยังออกมาขออภัยต่อ “ความไม่เป็นมืออาชีพ” ที่เกิดขึ้น)
และแม้นักบิน deadhead ในเที่ยวบินดังกล่าว จะได้ที่นั่งชั้นหนึ่งในท้ายที่สุด แต่ปัญหาก็ไม่ยุติ ยิ่งมีอดีตบอร์ดการบินไทยรายหนึ่ง ลุกขึ้นมาเสนอให้ทบทวนสวัสดิการที่พนักงานการบินไทย กว่า 2 หมื่นคนได้รับ แล้วมีแรงต้านจากฝั่งพนักงานการบินไทยเอง บทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เลยขยายไปใหญ่โตกว่าแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน TG971 เท่านั้น
อย่างที่เรารู้กันว่า ผลประกอบการของการบินไทยในระยะหลังอยู่ในโซนสีแดง แปลง่ายๆ ว่า “ขาดทุน”
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ก่อนปี 2550 การบินไทยแทบจะไม่รู้จักคำนี้ เพราะทำ “กำไร” ได้ติดต่อกันถึง 43 ปี
นั่งเป็นเหตุผลที่เข้าใจว่า เหตุใด 2 ทศวรรษก่อนหน้า บอร์ดการบินไทยจึงเป็นตำแหน่งที่ให้สวัสดิการดีเลิศจนหลายคนถวิลหา เพราะสามารถบินฟรีทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ ได้ “ตลอดชีวิต”
(แม้ระยะหลัง สวัสดิการบินฟรีนี้จะถูกปรับลด จากตลอดชีวิตมาเป็นแค่ระหว่างดำรงตำแหน่ง จากไม่กำจัดจำนวน มาเป็นไม่เกิน 30 ใบ และไม่เกิน 20 ใบ ก่อนจะถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2557 หลังการบินไทยขาดทุนอย่างหนัก)
เหตุผลที่การบินไทยมีกำไรมหาศาลและต่อเนื่องยาวนานในอดีต ก็อย่างที่หลายๆ คนรู้กันดี
1. จุดแข็งทางภูมิศาสตร์ที่ทั้งเป็นจุดหมายปลายทางและเป็นจุดแวะ transit
2. การเป็นสายการบินหลักของชาติสายการบินเดียว
3. ลักษณะนิสัยของคนไทย ที่ได้รับคำชื่นชมมายาวนาน
จุดแข็งทั้ง 3 อย่างของการบินไทยได้หายไปนานแล้ว ประกอบกับมีคู่แข่งขันเพิ่มมากขึ้น ในอุตสาหกรรมการบินที่ทุกคนรู้ดีกว่า “ปราบเซียน”
เอาง่ายๆ อย่างเส้นทางบินในประเทศไทย จากสิบปีก่อน มีเพียง 6 สายการบิน รองรับผู้โดยสารมากกว่า 17 ล้านคน ปัจจุบัน เพิ่มเป็น 20 สายการบิน รองรับผู้โดยสารมากกว่า 57 ล้านคน ที่แม้จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น แต่สารการบินที่เป็น “ตัวหาร” อื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะบรรดา low cost airlines
ถามว่าการบินไทยไม่รู้จุดอ่อนตัวเองหรือ คำตอบคือรู้ดีและรู้มานานแล้ว โดยเขียนไว้ในรายงานประจำปีหลายฉบับว่า การบินไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง มีจำนวนเส้นทางที่ขาดทุนมากกว่ากำไร มีฝูงบินที่หลากหลายเกินไปทำให้ต้นทุนการบำรุงรักษาสูงกว่าปกติ ฯลฯ
ขณะที่สุเมธ ในฐานะ DD การบินไทย ก็มีแนวคิดที่จะพลิกฟื้นองค์กรมากมาย และสัญญาว่าในปี 2563 บริษัทจะยุติการขาดทุน และในปี 2565 บริษัทจะกลับมามีกำไรอีกครั้ง
ปัญหาเรื่อง TG971 ไม่ว่าผลการสอบสวนภายในจะออกมาว่าเกิดจากอะไร จะมีคนผิดถูกลงโทษหรือไม่ สิ่งที่ปฏิเสธไมได้ก็คือการที่ปัญหาภายในโผล่ออกมาภายนอกจนส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร และไปตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ถูกมองไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ก็แสดงให้เห็นว่าภายในองค์กรนี้มีปัญหาอยู่จริงๆ (ไม่ว่าจะเรื่องความขัดแย้งส่วนบุคคล หรือประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า)
หลายคนมักชี้นิ้วว่า ฝ่ายการเมืองและข้าราชการเข้ามาสร้างและทิ้งปัญหาไว้ในการบินไทยจำนวนมาก แต่ใช่ว่าปัญหาดังกล่าว บรรดาคนในหรือลูกหม้อของการบินไทยเองจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ในขณะที่การปรับปรุงเชิงโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้ง “ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ” ก็ดูไม่มีอนาคต หลังร่างกฎหมายเข้าไปอยู่ใน สนช. แล้วเงียบหายมาปีกว่าแล้ว
ตอนนี้ก็เลยต้องหวังพึ่งแค่การเปลี่ยนแปลงจากภายในการบินไทยเองเท่านั้น ว่าจะทำอย่างไรให้กลับมาให้บริการผู้โดยสารได้อย่างดีที่สุด และมีผลประกอบการที่พออยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน
หลายๆ ชะตากรรมของอดีตสายการบินระดับโลกมักถูกหยิบมาคอยย้ำเตือนว่า ถ้าการบินไทยไม่ปรับตัวตอนนี้ ถึงเวลานั้นอาจไม่ทันการณ์ และอาจต้องผ่าตัดองค์กรขนานใหญ่ โดยเฉพาะกรณี Japan Airline (JAL) ที่ล้มละลายและต้องปลดคนไปถึงหนึ่งในสาม รัดเข็มขัดทุกวิถีทาง กว่าจะกลับมาทำกำไรได้ใหม่
ตอนนี้ ก็ได้แต่เอาใจช่วยให้คนการบินไทย “ปฏิรูปตัวเอง” สำเร็จ กลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่ “รักคุณ(ผู้โดยสาร)เท่าฟ้า” เหมือนเดิม
ไม่ใช่มีปัญหาภายใน แล้วลุกลามบานปลายออกมา จนคนอื่นๆ ได้รับความเดือดร้อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :