ไม่พบผลการค้นหา
ประชาธิปัตย์ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่ง คสช.53/2560 ผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดินเริ่มยกร่างคำร้องแล้ว อ้างลิดรอนเสรีภาพและข้ดกฎหมาย "อภิสิทธิ์" ระบุคสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์อีกต่อไป คำสั่งม.44 ไม่เข้าเงื่อนไขเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว

วันนี้ (8 มค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 53/2560 ว่า เบื้องต้นทีมกฎหมายของพรรคประชุม และจะยกร่างคำร้องในวันนี้ (8 ม.ค.) โดยยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวระบุว่าหากสมาชิกพรรคต้องการเป็นสมาชิกต่อ ให้สมาชิกพรรคให้ทำหนังสือยืนยันแจ้งหัวหน้าพรรค แต่ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ติดต่อระหว่างกันให้ผ่านทางระบบสารสนเทศและระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ช่องทางดังกล่าวกลับไม่ให้ใช้ในการติดต่อระหว่างหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรค

นอกจากนี้ หากสมาชิกแสดงหลักฐานว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งสงสัยว่าหลักฐานคืออะไร ทั้งหลักฐานที่แสดงว่าไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นบุคคลเสพยา ไม่เป็นบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น คิดว่าทั้งหมดมีลักษณะเป็นการลิดรอนสิทธิ์และเป็นภาระเกินจำเป็นของสมาชิกพรรค อีกทั้งการแจ้งเรื่องราวให้แก่สมาชิกจำนวน 3 ล้านกว่าคนภายใน 30 วัน ถือเป็นภาระเกินจำเป็นของหัวหน้าพรรคด้วย ทั้งนี้ การแสดงหลักฐานบังคับใช้แต่กับพรรคการเมืองเก่า แต่สำหรับพรรคการเมืองใหม่ไม่ต้องแสดงหลักฐาน

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสอง กำหนดให้การตรากฎหมายจะต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน และต้องไม่ขัดกับกระบวนการตามปกติ ซึ่งกรณีนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน แต่สำหรับคำสั่งคสช.ฉบับดังกล่าวไม่ได้ทำ ดังนั้น จึงขัดทั้งในแง่สิทธิเสรีภาพและกระบวนการ

สำหรับข้อโต้แย้งว่าคำสั่งคสช.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะคสช.คืออำนาจรัฎฐาธิปัตย์นั้น คิดว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่เท่ากับอำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวหมดสภาพไป ประกอบกับตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ได้เขียนรับรองการใช้อำนาจมาตรา 44แสดงว่าสามารถโต้แย้งได้ อีกทั้งทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจหัวหน้าคสช.จึงต้องใช้ตามรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น การออกคำสั่งคสช. ที่ 53/2560 จึงไม่เข้าเงื่อนไขการใช้มาตรา 44