สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบผลสำเร็จบูรณาการวิจัยร่วมกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สภาดอกไม้แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ในการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในการต้านทานโรคแห่งแรกของไทย
นายอนันต์ บุญมี ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ให้การสนับสนุนและส่งเสริมไม้ดอก ได้แก่ การปลูกไม้ดอกเบญจมาศซึ่งเป็นไม้ตัดดอกที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวง รวมทั้งพันธุ์ไม้ดอกชนิดอื่นๆ อาทิ ดอกแคลล่าลิลี่ ดอกอะกาแพนทัส และดอกคาร์เนชั่น ปัจจุบันมีการผลิตไม้กระถางด้วย
นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชผัก ไม้ผล ชา วานิลลา จากการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2525 สามารถลดพื้นที่การบุกรุกป่าจากอดีต ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ส่วนมากจะปลูกกะหล่ำปลีใช้พื้นที่กว่า 333 ไร่ เมื่อทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางได้ส่งเสริมเกษตรกร โดยเปลี่ยนมาปลูกผักในโรงเรือนทำให้สามารถลดพื้นที่เพาะปลูกได้ถึงร้อยละ 80% สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น จนสามารถเลี้ยงชีพด้วยตนเองได้ในปัจจุบัน
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ กล่าวว่า ผลงานการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ต้านทานโรค ซึ่ง วว. และเครือข่ายบูรณาการวิจัยสำเร็จในครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของ วว. ในการสนับสนุนวงการไม้ดอกไม้ประดับของไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)
ทั้งนี้ เบญจมาศ (Chrysanthemum morifolium) เป็นไม้ตัดดอกที่มีมูลค่าการผลิตสูง โดยมียอดการซื้อขายทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท สำหรับประเทศไทยสามารถปลูกเบญจมาศในหลายพื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย นนทบุรี สุราษฏร์ธานี สงขลา ยะลา อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย และนครราชสีมา แต่พื้นที่ปลูกก็มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสายพันธุ์เบญจมาศที่ใช้เป็นต้นพันธุ์ดั้งเดิม มีการปลูกเลี้ยงมายาวนาน และใช้พื้นที่ปลูกเดิมแบบซ้ำๆ กันมาหลายปี เป็นสาเหตุทำให้มีการสะสมโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งไวรัส ทำให้การผลิตเบญจมาศลดน้อยลง อีกทั้งประเทศไทยไม่มีการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาด ทำให้ไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคได้
“การพัฒนาสายพันธุ์เบญจมาศและสร้างสายพันธุ์ใหม่ให้มีความหลากหลายทั้งสีดอก และรูปทรงที่แปลกใหม่ ตลอดจนสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทย เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์สายพันธุ์ของต่างประเทศ ทำให้ผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทยสามารถแข่งขันกับไม้ดอกไม้ประดับที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้นด้วย”นายสายันต์ กล่าว
นายอนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวว่า ผลงานวิจัยการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ เป็นการพัฒนากระบวนการกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ของเบญจมาศทั้งที่มีอยู่แล้ว และเป็นการเพิ่มจำนวนสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์สู่ระบบการผลิตไม้ดอกเบญจมาศ รวมทั้งสามารถใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ และทรัพยากรพันธุกรรมจากสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นวัตถุดิบต้นแม่พันธุ์ เพื่อการพัฒนาให้เกิดการกลายพันธุ์และสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยใช้สายพันธุ์ที่นักวิจัยจาก วว. ได้ปรับปรุงพันธุ์มาทดสอบปลูกเลี้ยง จำนวน 30 สายพันธุ์ ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง พร้อมทั้งเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต ความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งทำการประเมินศักยภาพของสายพันธุ์ ความเหมาะสมทั้งด้านสีสัน รูปทรงดอก และความคงทนของดอก เพื่อที่จะนำไปส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอก
โดยข้อมูลงานวิจัยพบว่ามีสายพันธุ์เบญจมาศ จำนวน 5 สายพันธุ์ ที่ผ่านการประเมินและได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ค้าไม้ดอก
นอกจากนี้ การทดสอบปลูกในพื้นที่ดังกล่าวยังได้สายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคอีก 1 สายพันธุ์ ทั้งนี้ สายพันธุ์เบญจมาศที่ได้รับการประเมินสามารถพัฒนาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงต่อไป และยังได้ทำการปรับปรุงพันธุ์เบญจมาศด้วยวิธีการใช้สารก่อการกลาย คือ สาร EMS และวิธีการฉายรังสีแกมม่า ซึ่งแนวทางปรับปรุงพันธุ์ทั้ง 2 วิธีดังกล่าว ส่งผลให้สายพันธุ์เบญจมาศเกิดการกลายพันธุ์ในรูปแบบต่าง ๆ อีกหลากหลายลักษณะ ทั้งนี้ต้องมีการนำมาสายพันธุ์ที่กลายมาศึกษาความคงทน สีสันดอก และประเมินความต้องการของกลุ่มเกษตรกร และผู้ค้าต่อไป
ทั้งนี้ จากการปลูกเบญจมาศทั้ง 30 สายพันธุ์ พบว่า มีสายพันธุ์เบญจมาศจำนวน 1 สายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรคราสนิม คือ สายพันธุ์ วว.14 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่พบการเกิดโรคราสนิมที่ต้นเบญจมาศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นโรค
“จากการวิจัยและประเมินสายพันธุ์เบญจมาศของ วว. และเครือข่ายนั้น มีข้อเสนอแนะที่ได้จากการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยคือ ควรมีการกำหนดเขตกรรมในการเพาะปลูก เนื่องจากบางสายพันธุ์มีความอ่อนแอต่อการเกิดโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคหรือมีผลกระทบต่อการปลูกเลี้ยงพืชตัดดอกชนิดอื่นๆ ทำให้เกิดความเสียหายตามไปด้วย นอกจากนี้ควรมีการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดต่อการปลูกเลี้ยงเพิ่มเติม เช่น ราคาผลผลิตในแต่ละช่วงฤดูกาล รวมทั้งวิธีการป้องกันและกำจัดโรค เพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกเลี้ยงมีแนวทางป้องกัน และควรลดการนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสายพันธุ์ที่ปลูกเลี้ยงภายในประเทศ”นายอนันต์ กล่าว
จากการวิจัยดังกล่าว สามารถนำสายพันธุ์เบญจมาศที่ผ่านการคัดเลือกไปปลูกเลี้ยง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านไม้ดอกไม้ประดับ สำหรับจัดแจกันตกแต่งหรือจัดช่อดอกไม้ในงานต่างๆ และการปลูกเลี้ยงแบบไม้ดอกในกระถาง เพื่อใช้สำหรับตกแต่งในนิทรรศการต่างๆ นอกจากนี้ เทคนิคการใช้สารก่อกลายพันธุ์ (EMS) และการฉายรังสีแกมม่ายังสามารถช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ ทำให้เกิดลักษณะที่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม เพื่อนำไปพัฒนาและถ่ายทอดแก่เกษตรกรปลูกเลี้ยงต่อไป