นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวภายในงานสัมมนาสื่อมวลชนศาลยุติธรรม กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต้องยึดถือปฏิบัติ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ ใหม่ กำหนดไว้ว่ามาตรการนั้นถูกบังคับไว้ใน รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 219 ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องดำเนินการออกมาตรการนี้ภายใน 1 ปี ตามรัฐธรรมนูญกำหนด มิเช่นนั้น ตุลาการและองค์กรอิสระที่อยู่ในบทบัญญัติจะต้องพ้นจากตำแหน่ง
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาตรการดังกล่าวและได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 บุคคลที่อยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมดังกล่าว ประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ หรือ กสม. ซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมที่มีการกำหนดมา โดยนอกจากองค์กรอิสระเหล่านี้แล้ว คณะรัฐมนตรี รวมถึง ส.ส. ส.ว. ก็จะตกอยู่ในมาตรฐานขอบเขตจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 วรรคสองด้วย
โดยในมาตรา 219 วรรคสอง กำหนดให้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกําหนด จริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรม ตามวรรคหนึ่ง และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ทั้งนี้ นายสราวุธ กล่าวว่า ถ้าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมนั้น บทลงโทษจะมีหมวดร้ายแรงและหมวดไม่ร้ายแรง ซึ่งในมาตรฐานจริยธรรมหมวด 1 ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ซึ่งข้อ 7 ระบุถึงต้องถือบทผลประโยชน์ของประเทศเหนือประโยชน์ส่วนตน ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ไม่แสวงหาผลประโยชน์มิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือรู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่างหน้าที่ของตนเองแสวงหาผลประโยชน์มิชอบ หรือข้อ 9 ต้องไม่ขอเรียกรับทรัพย์หรือประโยชน์ที่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และข้อ 10 การรับของขวัญ ของกำนัล เส้นแต่เป็นการให้โดยเสน่หา โดยธรรมจรรยาตามที่กฎหมายระเบียบบังคับที่ทำได้โดยในหมวด 1 นั้นจะถือเป็นเรื่องผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง หากมีการละเมิด ส่วนหมวด 2 และ 3 จะเป็นเรื่องค่านิยมหลักและจริยธรรมทั่วไป จะต้องดูว่าพฤติกรรมของผู้ฝ่าฝืนเป็นอย่างไรมีเจตนาและความร้ายแรงอย่างไร ถ้าเสียหายร้ายแรงก็อาจจะเป็นเรื่องผิดจริยธรรมร้ายแรงได้ (ราชกิจจานุเบกษา : เรื่องมาตรฐานจริยธรรม)
ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 เรื่องฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม อาจมีการร้องเรียน และ ป.ป.ช.จะเป็นผู้ไต่สวน ส่วนคนที่จะพิพากษาว่าใครฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงคือ "ศาลฎีกา"
อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณา ทางสำนักงานศาลยุติธรรม จึงได้เสนอจัดทำร่างระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ร่างระเบียบดังกล่าว มีหัวข้อที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น การกำหนดการเสนอเรื่อง , การพิจารณา และขั้นตอนในการออกคำสั่งต้องทำยังไงบ้าง ซึ่งหลายคนก็อาจสงสัยว่าหากศาลฎีกาไต่สวนแล้วผลจะเป็นอย่างไร รธน.มาตรา 202 (10) ก็กำหนดว่า หากเป็นบุคคลที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็จะขาดคุณสมบัติและจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้การฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมบางครั้งอาจจะเข้าข่ายที่จะผิดตามกฎหมายอาญาควบคู่ไปด้วยได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องว่าไปตามกฎหมายมีการดำเนินการเเยกกัน เช่น การปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ร่ำรวยผิดปกติ
ทั้งนี้ ในการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมบางครั้งอาจจะเข้าข่ายจะผิดตามกฎหมายอาญาควบคู่ไปด้วยได้ ตรงนี้ก็ต้องว่าไปตามกฎหมายมีการดำเนินการแยกกัน เช่น การปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ร่ำรวยผิดปกติ ศาลยุติธรรมต้องขอชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสามารถออกมาตรฐานทางจริยธรรมภายในกรอบที่กำหนด ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของศาลฎีกาของสำนักงานศาลที่จะเสนอระเบียบต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มั่นใจว่าจะดำเนินการทัน จะส่งเข้าที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ นายสราวุธ ตอบหลังถูกถาม "หาก ป.ป.ช.เป็นผู้ฝ่าฝืนทางจริยธรรม ใครจะเป็นผู้ไต่สวนคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา" ว่า ต้องมีการตั้งผู้ไต่สวนอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อไต่สวนตามรัฐธรรมนูญเพื่อไต่สวนเหมือนกรณี อดีต กกต. เคยขึ้นเงินเดือนตัวเองก็มีคณะไต่สวนอิสระขึ้นมาดำเนินการเพื่อความเป็นธรรม