ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีได้ โดยตนได้ฟังฟังคำอภิปรายของเพื่อน ส.ส. เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ซึ่งรัฐสภาประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยพรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยประเด็นสำคัญ พรรคฝ่ายค้านได้กล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติ เพราะหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็น เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่สามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ การโต้แย้งยังไม่มีข้อสิ้นสุด แต่สุดท้ายเสียงข้างมากก็ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนมีความเห็นเหมือนกับที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภาว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯได้
"ผมขออ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 ซึ่งตัดสินเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. พ.ศ. 2560 ในหัวข้อที่ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นจำเลยในความผิดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณี จำเลยไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เรื่องนี้ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ได้ตัดสินหักล้างข้อต่อสู้ของจำเลยที่อ้างว่า คสช. ไม่มีอำนาจเรียกตนไปรายงานตัว แต่ศาลทั้งสองได้ตัดสินว่า คสช. มีอำนาจเรียกจำเลยไปรายงานตัวได้ เพราะ คสช. เป็น รัฏฐาธิปัตย์ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงมีอำนาจดังกล่าว ต่อมา ศาลฎีกา ได้พิพากษาว่า การที่จำเลยต่อสู้ว่า คสช. ไม่มีอำนาจ นั้น ศาลพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงดังได้วินิจฉัยแล้ว การยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จแล้ว คสช. จึงเป็น รัฏฐาธิปัตย์ จึงย่อมมีอำนาจออกประกาศและคำสั่งให้จำเลยรายงานตัวต่อ คสช. ได้"
ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า ศาลมีข้อสรุปที่น่าสนใจ กล่าวคือ การยึดอำนาจของ คสช. ไม่มีผู้ต่อต้านและได้แต่งตั้งผู้บริหารบางส่วนแล้ว จึงนับว่าเป็นการปฏิวัติสำเร็จลุล่วง บางส่วนของคำพิพากษาศาลฎีกา ได้ระบุว่า คสช. ได้มีคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัวต่อ คสช. ภายในวันที่ 24 พ.ค. 2557 เวลา 16.00 น. โดยกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามกำหนดไว้ด้วย พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่มารายงานตัวต่อ คสช. จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลย ว่า กระทำความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรค 1 บัญญัติว่า ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวตามสมควร จึงนับว่ามีความผิด เมื่อ คสช. มีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว คำสั่งของ คสช. ที่ให้จำเลยมารายงานตัว จึงเป็นคำสั่งตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรค 1 โดยศาลฎีกา ยังระบุว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก คสช. ปฏิวัติสำเร็จเป็น รัฏฐาธิปัตย์ แล้ว
ซึ่งเรื่องนี้ ทาง กกต. มีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าพนักงาน และไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็วินิจฉัยทำนองเดียวกัน เรื่องนี้หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายจะต้องรับฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุด ส่วนตัวเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าพนักงาน ซึ่งขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 98 ซึ่งห้ามสมัครเป็น ส.ส. โดย (15) ห้ามบุคคลใดเป็นพนักงาน หรือ ลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ข้อห้ามข้อนี้ ตรงกับคำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับที่กล่าวอ้างถึง
นอกจากนี้ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 160 มีใจความสรุปว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติไม่ขัดแย้งกับมาตรา 160 ซึ่งมีทั้งหมด 8 อนุมาตราด้วยกัน แต่คุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดและต้องห้ามตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ความว่า การจะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98 (15) แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) จึงมีคุณสมบัติขัดตามมาตรา 160 (6) ซึ่งไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้
"การที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลออกมาโต้แย้งว่าเรื่องดังกล่าวนี้ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว อันนับได้ว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นทางกฎหมายอันไร้วิญญาณของความเป็นนักกฎหมาย เพราะ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ได้เป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด การแสดงความคิดเห็นของผมในครั้งนี้ ไม่ได้มีอคติ ไม่ได้อิจฉาริษยา และไม่ได้กลั่นแกล้งใคร เป็นแค่เพียงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นนักกฎหมายด้วยคนหนึ่งเท่านั้น"