“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ยินดีต้อนรับนักอ่านทุกท่านสู่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16” เสียงสวยๆ ดังแว่วมาจากเครื่องขยายเสียง
“เอ๊ะ! สัปดาห์หนังสือฯ เพิ่งจัดไปไม่ใช่เหรอ ทำไมมาบ่อยจังเลย” หลายๆ คนอาจเกิดความสงสัยไม่น้อยว่า แท้จริงแล้วสัปดาห์หนังสือฯ ในประเทศไทยจัดขึ้นกี่ครั้งต่อปีกันแน่
หากจำให้ง่ายๆ สำหรับเทศกาลใหญ่ๆ จะมาเยือนนักอ่าน 2 ครั้งต่อปีคือ ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ ร่วมกับ ‘สัปดาห์หนังสือนานาชาติ’ จัดขึ้นช่วงต้นปี และอีกหนึ่งอีเว้นท์ตอนปลายปีเรียกว่า ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ’ นอกจากนั้น หลายหน่วยงานพยายามช่วยกันส่งเสริมการอ่านด้วยการจัดเทศกาลหนังสือสำหรับเด็ก เทศกาลหนังสือของมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่างๆ อีกยิบย่อย ส่งผลให้ภาพความเคลื่อนไหวของแวดวงหนังสือยังคงคึกคักอยู่เกือบตลอดทั้งปี
สำหรับสัปดาห์หนังสือฯ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2515 บริเวณโรงละครแห่งชาติ ต่อมาย้ายสถานที่จัดไปหลายแห่ง เช่น สวนลุมพินี โรงเรียนหอวัง สนามหลวง และคุรุสภา เป็นต้น จนกระทั่งปี 2546 เกิดสัปดาห์หนังสือนานาชาติเพิ่มขึ้น จึงย้ายสถานที่ไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในเวลาต่อมา
ปัจจุบัน สัปดาห์หนังสือฯ ยังคงเกิดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักพิมพ์มากมายทยอยเปิดตัวหนังสือใหม่ หรือจำหน่ายหนังสือเก่าลดราคาให้แฟนๆ ที่รอคอยกันอย่างคึกคัก ประกอบกับสำนักพิมพ์จากต่างประเทศอีกจำนวนไม่น้อยก็เข้าร่วมออกบูธ ทำให้นักอ่านทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ขาจร และขาประจำ ยังคงแห่กันมาร่วมงานหนาแน่น เพื่อเลือกช้อปสินค้าตอบสนองความต้องการ
ล่าสุด เกิดข่าวคราวสะเทือนวงการหนังสือว่า ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ต้องปิดปรับปรุงเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี นั่นเท่ากับว่า สัปดาห์หนังสือฯ ต้องเปลี่ยนสถานที่ที่หลายคนคุ้นเคย ทั้งนี้ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (The Publishers and Booksellers Association of Thailand : PUBAT) กำลังมองหาสถานที่แห่งใหม่ โดย 2 รายชื่อแรก ได้แก่ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี และไบเทค บางนา
ต้องยอมรับว่า สถานที่ทั้ง 2 แห่งเหมาะกับรองรับการจัดงานไม่น้อย เนื่องจากมีที่จอดรถยนต์เพิ่มมากขึ้น บริเวณจัดงานกว้างขวาง แต่ปัญหาใหญ่คือ ค่าเช่าสถานที่ที่ราคาค่อนข้างแพง อีกทั้งอิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี ไม่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน ส่วนทางด้านไบเทค บางนา แม้จะสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้ แต่ทำเลย่านชานเมืองอาจทำให้หนอนหนังสือต้องเดินทางไกลยิ่งขึ้น
อีกแห่งหนึ่งที่ดูเข้าท่าคือ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา แจ้งวัฒนะ แต่ทั้งนี้ รายชื่อสถานที่ทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ยังคงต้องรอสรุปความแน่นอนชัดเจนของทางสมาคมถึงจะชี้เป้าได้ว่าสถานที่ใหม่นั้นเป็นชื่อใดกันแน่
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลให้ความเคยชินคลายตัวลง การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมมากกว่าเดิมหลายเท่า การย้ายสถานที่เต็มไปด้วยข้อดี และข้อเสียมากมาย ซึ่งหนึ่งเสียงความคิดเห็นจากคนทำงานในแวดวงที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสิ่งพิมพ์คือ วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แฮพเพนนิ่งให้ความคิดเห็นว่า
“ผมรู้สึกว่า ถ้าไปจัดงานตามที่สมาคมฯ คาดการณ์ไว้น่าจะเดินทางไม่ค่อยสะดวกเท่ากับที่เดิม ซึ่งรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ผมเป็นกังวลเล็กน้อยว่า วันข้างหน้าคนมางานหนังสือฯ จะเป็นรูปแบบไหน เช่น เท่าที่เคยผ่านทางศูนย์ราชการมา ละแวกนั้นรถค่อนข้างติด ผลเสียที่ตามมาคงมีคนที่ถอดใจในการเดินทางไปเหมือนกัน”
ความจริงสัปดาห์หนังสือ ฯ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ค่อนข้างแออัดมาได้สักระยะแล้ว บางคนอาจมองเป็นเรื่องราวดีๆ ในการขยับขยาย ซึ่งสิ่งที่รู้สึกดีคือ
“เมื่อได้ไปจัดงานที่อื่นก็ถือเป็นการกระจายงานไปแถบชานเมืองบ้าง ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเป็นคนแถวแจ้งวัฒนะก็อาจจะลำบากในการเดินทางมาศูนย์สิริกิติ์เหมือนกัน เพราะโซนแจ้งวัฒนะก็คนเยอะ ซึ่งในศูนย์ราชการเองมีข้าราชการที่ทำงานประจำอยู่มหาศาลด้วย ก็อาจจะเป็นข้อดีที่คนแถวนั้นจะได้เดินทางมางานสัปดาห์หนังสือใกล้ๆ สบายๆ บ้าง”
อีกหนึ่งเสียงของนักอ่าน นักเขียน และตัวแทนหนุ่มนักขายหนังสืออย่าง วิกรานต์ ปอแก้ว ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บมจ.มติชน กล่าวว่า
“เนื่องจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสถานที่จัดงานหนังสือฯ มาแล้วหลายครั้ง สิ่งแรกที่ทำให้รู้สึกดีคือ ไปมาสะดวก พออยู่ไปนานๆ ก็เกิดความเคยชิน ฟังก์ชั่นของงานก็ค่อนข้างลงตัว ทุกองค์ประกอบรวมๆ ก็กำลังปรับปรุงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ”
หากจำเป็นต้องย้ายไปสถานที่อื่น เรื่องของขนส่งมวลชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในแง่ผู้อ่านที่มีรถยนต์ส่วนตัว สถานที่จอดต้องรองรับให้เหมาะสม สัปดาห์หนังสือฯ เป็นหนึ่งในงานสำคัญของคนขายหนังสือ และวงการสิ่งพิมพ์ ซึ่งการโยกย้ายสถานที่ช่วงแรกอาจจะทำให้เกิดความขลุกขลักบ้าง แต่ส่วนตัววิกรานต์ยังเชื่อว่า คนซื้อจะค่อยๆ ปรับตัว อย่างไรก็ตาม ผู้จัดเองต้องคำนึงถึงเรื่องการเดินทางเป็นสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องรวมกันอยู่ในงานหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นคนขาย คนซื้อ คนส่ง
“ข้อดีของการเปลี่ยนสถานที่จัดงานอาจจะได้รองรับการจอดรถเพิ่มมากขึ้น บางบูธได้พื้นที่การจำหน่ายสินค้า หรือได้รับความแปลกใหม่ของบรรยากาศ กิจกรรมหลากหลาย ทุกอย่างอาจจะถูกยกระดับขึ้นมา เป็นงานหนังสือที่อัพเกรดตัวเองเพิ่มมากขึ้นด้วย”
นักอ่านขาประจำงานสัปดาห์หนังสือ วีรศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนประจำกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์สารคดี ได้ให้ความเห็นในฐานะนักอ่านว่า
“ปัจจุบันรูปแบบงานหนังสือที่เป็นอยู่จะค่อนข้างเน้นการขายหนังสือใหม่ เพื่อออกร้านหวังผลยอดขายเสียส่วนใหญ่ ส่วนตัวผมอยากเห็นรูปแบบการขายหนังสือเก่าสลับกันบ้าง สร้างความหลากหลายแทรกเข้ามา ผลัดจากการมุ่งเน้นหนังสือปกใหม่เพียงอย่างเดียว”
วีรศักดิ์ยังแสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายด้วยว่า ในมุมมองของนักอ่านเขาต้องการเห็นนักเขียนที่ชื่นชอบขึ้นสนทนาบนเวทีแบบจริงจัง ทว่าสำหรับงานที่ผ่านมา เวทีเสวนามักจะตั้งอยู่ท่ามกลางตลาดขายหนังสือ ซึ่งนั่นทำให้ไม่สะดวกในการตั้งใจฟัง
“อยากให้มีบริการรถรับส่งผู้อ่านในจุดลงรถสารธารณะละแวกงาน เพื่อรองรับนักอ่านที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว เพราะความสะดวกสบายของการเดินทางเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการทำให้คนอยากเข้าร่วมงาน”
ดูเหมือนว่า การเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งต่อไปเต็มไปด้วยข้อดี และข้อเสียในมุมมองอันหลากหลาย แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นกังวลสุดคือ ความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าร่วมงาน ซึ่งบรรดานักอ่านคงทำได้แค่รอการตัดสินใจจากทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ว่าจะมีบทสรุปเรื่องอนาคตของสถานที่จัดงานสัปดาห์หนังสือฯ อย่างไร?
แล้วสุดท้าย หนอนหนังสือคิดเห็นอย่างไร? สำหรับการเปลี่ยนที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป?