เมื่อวานนี้ (8 ธ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้แจงกรณีนายฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งได้การรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติให้พำนักในประเทศออสเตรเลีย ถูกควบคุมตัว ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กรุงเทพฯ หลังเดินทางจากประเทศออสเตรเลียมาถึงประเทศไทยพร้อมภรรยา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ตามหมายจับขององค์การตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล ซึ่งออกตามคำขอของรัฐบาลบาห์เรน โดยมีข่าวว่านายฮาคีมฯ อาจถูกส่งตัวกลับประเทศบาเรนห์และถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม หรือ อาจถูกซ้อมทรมานซ้อมทรมาน
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการหลายประการที่น่ายกย่องเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง เช่น การริเริ่มทำบันทึกความเข้าใจเรื่องการไม่กักเด็กที่ติดตามผู้ปกครองที่แสวงหาที่พักพิง หรือความพยายามให้มีระบบคัดกรองผู้อพยพเข้าเมือง การปรับปรุงพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รวมถึงความพยายามให้มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญและเคารพหลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย (Non-refoulement) ตามข้อบทที่ 3 วรรคหนึ่ง ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ ที่เน้นย้ำว่า ‘รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน’
“ดิฉันหวังอย่างยิ่งว่านายฮาคีม อัล อาไรบี ซึ่งได้การรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากองค์การสหประชาชาติ จะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและกติการะหว่างประเทศ โดยมีหลักประกันว่ารัฐบาลไทยจะไม่ผลักดันเขากลับสู่อันตราย หรือมีความเสี่ยงที่จะถูกทรมาน” นางอังคณา กล่าว
ทั้งนี้ ซิดนีย์เฮรัลด์มอร์นิง สื่อของออสเตรเลีย รายงานเพิ่มเติมว่า นายฮาคีมเป็นนักฟุตบอลชั้นนำของสโมสรฟุตบอลพาสโค เวล ในรัฐวิกตอเรีย ทั้งยังได้รับสถานะผู้พำนักถาวรอย่างเป็นทางการในออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2560 บ่งชี้ให้เห็นว่าเขาได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ต้องได้รับการคุ้มครอง จึงไม่ควรถูกจับกุมหรือส่งตัวกลับไปยังบาห์เรน และรัฐบาลไทยควรเคารพในกติการะหว่างประเทศ
ขณะที่เพื่อนร่วมทีมของนายฮาคีมระบุว่าการเดินทางมายังไทยของเขา เกิดจากความตั้งใจที่จะมาพักผ่อนและท่องเที่ยวฮันนีมูนพร้อมภรรยา แต่กลับถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม
ส่วนข้อกล่าวหาที่รัฐบาลบาห์เรนมีต่อนายฮาคีม คือ การทำลายทรัพย์สินของสถานีตำรวจในระหว่างที่มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2555 แต่นายฮาคีมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และไม่ยอมไปรายงานตัวต่อศาล เพราะเคยถูกซ้อมทรมานขณะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ศาลจึงตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปี กรณีที่เขาไม่ไปรายงานตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: