ไม่พบผลการค้นหา
เฟซบุ๊กเตรียมเปิดโอกาสให้สมาชิกทั่วโลกกว่า 2,000 ล้านคน เข้าร่วมจัดอันดับความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว ซึ่งเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ในการต่อสู้กับการแพร่กระจายข้อมูลผิดพลาด และข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์

การเปลี่ยนแปลงบนโลกโซเชียลมีเดียกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารเครือข่ายสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ ‘เฟซบุ๊ก’ กำลังพยายามลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาการแพร่กระจายข้อมูลเท็จอีกครั้ง หลังจากผ่านความล้มเหลวกันมานักต่อนัก

ในโพสต์ล่าสุดของซักเคอร์เบิร์กระบุว่า นอกจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้ความสำคัญกับการจัดลำดับความสำคัญของข่าวแล้ว ประเด็นเรื่อง ‘ความน่าเชื่อถือ’ และ ‘คุณภาพ’ ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุล การแชร์ข้อมูลที่รู้มาแบบผิดๆ และการกำหนดทิศทางความสนใจแบบแบ่งฝ่าย ขณะเดียวกันสื่อสังคมออนไลน์ก็ช่วยให้ผู้คนกระจายข้อมูลได้เร็วมากแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหามันอาจจะขยายวงกว้างขึ้น

หนทางแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ของซักเคอร์เบิร์กคือ การเปิดให้สมาชิกทั่วโลกร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ และคุณภาพของสำนักข่าวภายในประเทศของตัวเอง ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในสัปดาห์หน้า เนื่องจากความมุ่งมั่นในปี 2018 ของเฟซบุ๊กอยู่ที่การทำให้สมาชิกทุกคนสบายใจว่า ภาพรวมของข้อมูลข่าวสารที่เสพอยู่นั้นมีคุณภาพสูง และเชื่อถือได้


ทางเฟซบุ๊กตัดสินใจใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การจัดอันดับสำนักข่าวน่าเชื่อถือ นำเสนอสาระประโยชน์ และมีความเป็นท้องถิ่น เพื่อคัดกรองสำนักข่าวน่าเชื่อถือแท้จริง ออกจากสำนักข่าวยอดนิยม

“เราสามารถจะตัดสินเองได้ แต่นั้่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจะทำ” ซักเคอร์เบิร์ก ระบุบนเฟซบุ๊กของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวหลายแห่งเริ่มสงสัยต่อแผนการดังกล่าวของซักเคอร์เบิร์กว่า สามารถใช้อ้างอิงได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากแนวคิดของซักเคอร์เบิร์กเกิดขึ้นหลังการประกาศเรื่องการปรับอัลกอริทึม เพื่อลดการแสดงผลการโพสต์ข้อมูลของเพจต่างๆ ที่มีเนื้อหาเชิงธุรกิจบนนิวส์ฟีดของสมาชิก