นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอมาตรการชุดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย เข้าถึง 4 โอกาสด้วยกัน คือ โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน , โอกาสทางการศึกษา , โอกาสในการหางานทำ และโอกาสการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ประกอบด้วย อาหาร , ที่อยู่อาศัย , เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค
โดยในวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค.) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งจัดทำมาตรการดังกล่าว ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายเดือนธันวาคม ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำหนดไว้ เพื่อให้เริ่มโครงการได้ ต้นปี 2561
ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้เรียกประชุม ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว 1 ครั้ง เบื้องต้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 2 จะเน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน 11.4 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย อายุ 18-60 ปี มีรายได้เพิ่มขึ้น พึ่งพาตัวเองได้ และหลุดพ้นจากความยากจน
ซึ่งผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนในเขตเมือง ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ ช่วยฝึกแรงงานให้ตรงกับความต้องการของห้างร้าน ส่วนผู้ลงทะเบียนในต่างจังหวัดและเกษตรกร มอบหมายให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ไปหามาตรการช่วยเหลือ
โดยธนาคารออมสิน เตรียมผลิตภัณฑ์ทางการเงินรองรับ ทั้งสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ อัตราดอกเบี้ยพิเศษและมีเงื่อนไขการพิจารณา สินเชื่อผ่อนปรนกว่าสินเชื่อทั่วไป โดยสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อย มีอาชีพหรือร้านค้าเป็นของตนเอง เช่น แฟรนไชส์ สตรีทฟู้ด ฟู้ดทรัค เป็นต้น , เงินฝากดอกเบี้ยพิเศษเพื่อจูงใจให้ผู้ที่มีรายได้น้อยออมเงินมากขึ้น รวมถึงสินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท คาดจะช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า 20 ล้านราย เตรียมเสนอกระทรวงการคลัง พิจารณาในเดือนธันวาคมนี้
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังมีแนวคิดที่จะแจกซิมอินเทอร์เน็ตฟรีให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อหาความรู้ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น