ข้อมูลจากสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (IDF) ซึ่งสำรวจสถิติด้านสาธารณสุขทั่วโลก พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มเป็น 425 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 11 ของประชากรโลก ทำให้ 'โรคเบาหวาน' และ 'ผู้ป่วยโรคเบาหวาน' เป็นประเด็นที่ใกล้ตัวใครหลายคน เพราะแทบทุกคนจะรู้จักผู้ป่วยเบาหวานอย่างน้อย 1 คน และคาดว่าในปี พ.ศ. 2588 จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 629 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานจำนวนมาก 'ไม่รู้ตัว' ว่ามีอาการของโรค จึงไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่นๆ ที่ร้ายแรงและเป็นผลสืบเนื่องจากอาการเบาหวานเรื้อรัง ซึ่งหลายโรคเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต และผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงตัวยาที่จำเป็น เนื่องจากยาบางชนิดมีราคาแพง ส่งผลกระทบต่อสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ
ด้วยเหตุนี้ การป้องกันและหาทางรักษาบรรเทาอาการโรคเบาหวานแต่เนิ่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ IDF และองค์การอนามัยโลก (WHO) พยายามผลักดันและรณรงค์ให้คนในสังคมทั่วโลกตระหนักถึงความรู้ความเข้าใจในโรคเบาหวาน และหาทางป้องกันหรืออยู่ร่วมกับโรคเบาหวานโดยไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ป่วยและครอบครัว และทั้งสององค์กรได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 14 พ.ย. ของทุกปี คือ 'วันเบาหวานโลก' โดยร่วมกันจัดกิจกรรมและรณรงค์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา
ข้อมูลของ IDF และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ระบุว่าโรคเบาหวานที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ มี 2 ชนิด
ชนิดที่ 1 เกิดจากอาการแพ้ภูมิตนเอง หรือออโตอิมมูน เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ จึงไม่อาจทำหน้าที่ลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้ น้ำตาลในเลือดสูง จนเกิดเป็นเบาหวาน
ชนิดที่ 2 มีผู้ป่วยมากกว่าชนิดแรก คิดเป็นร้อยละ 90 ของประชากรที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานทั้งหมด แต่เป็นชนิดที่สามารถป้องกันได้ และหากได้รับการวินิจฉัยได้เร็วก็มีโอกาสที่จะดูแลฟื้นฟูสุขภาพร่างกายให้กลับมาแข็งแรงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีต้นตอจากภาวะดื้ออินซูลินในร่างหาย (insulin resistance) ทำให้อินซูลินทำหน้าที่ลดน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี น้ำตาลในเลือดสูงจนเป็นเบาหวาน และหากไม่ได้รักษา น้ำตาลที่สูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อเซลล์ตับอ่อน (glucotoxicity) ทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่ได้ และเกิดภาวะขาดอินซูลิน (insulin secretory defect) ร่วมด้วย
ความผิดปกติของร่างกายหรือพันธุกรรม เป็นสาเหตุของเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 แต่ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน การกินอาหารหวานมัน รวมถึงการละเลยการออกกำลังกาย เป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คนจำนวนมากเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างเป็นประจำช่วยป้องกันหรือลดปัจจัยเสี่ยงการเป็นเบาหวานได้
อ่อนเพลียง่าย คอแห้ง หิวบ่อย ปัสสาวะบ่อย ปวดศีรษะ น้ำหนักลด ตามัว วิงเวียน แผลหายช้า ชาตามมือและเท้า หากมีอาการเหล่านี้ประกอบกัน ควรรีบไปพบแพทย์
หากละเลยไม่เข้ารับคำปรึกษาหรือรักษาอาการ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน นำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ หมดสติ ไตวาย ตาพร่ามัวจนถึงขั้นตาบอด และหากเป็นแผลเรื้อรังอาจทำให้ต้องตัดอวัยวะทิ้ง ทั้งยังกระทบต่อการนอนหลับพักผ่อน
กรณีของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะต้องได้รับอินซูลินอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งประชากรในกลุ่มประเทศยากจนและกำลังพัฒนาทั่วโลกที่เป็นโรคเบาหวาน ยังประสบปัญหาอินซูลินราคาแพง ส่งผลกระทบต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจของครอบครัว รัฐบาลทั่วโลกจึงควรมีนโยบายช่วยเหลือหรือหลักประกันให้กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ทุกเพศทุกวัยและทุกสถานะทางสังคม มีโอกาสเข้าถึงอินซูลินเป็นประจำ
ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะต้องได้รับประทานยาลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินต่อเนื่องเช่นกัน ขณะเดียวกันก็ต้องเคร่งครัดด้านโภชนาการ รับประทานอาหารที่กากใย งดกินอาหารแคลอรี่สูง งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึงต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำในกระแสเลือด เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้ อาการบ่งชี้ว่าเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ได้แก่ มือสั่น ใจสั่น ตัวเย็น อ่อนเพลีย
ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานบางรายไม่ได้สังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง หากคนในครอบครัวสังเกตเห็นอาการผิดปกติของคนรอบตัว ควรชักชวนหรือโน้มน้าวให้ผู้สงสัยว่ามีอาการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างทันเวลา และการดูแลให้กำลังใจผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงการช่วยควบคุมอาหารและกระตุ้นให้ออกกำลังกายหรือปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานรับมือกับอาการต่างๆ ได้ดีขึ้น
กรณีของประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปภัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดทำรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 พบว่า ความชุกของโรคเบาหวานของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เท่ากับร้อยละ 8.9 เพิ่มจากปี พ.ศ.2552 ร้อยละ 6.9
ความชุกของผู้ที่มีความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดตอนเช้าขณะอดอาหารเท่ากับร้อยละ 15.6 และผู้ป่วยเบาหวานร้อยละ 43.2 ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อนและไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมากกว่าร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตทั้งหมด มีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งรวมถึงโรคเบาหวานด้วยนั่นเอง
ที่มา: IDF/ World Diabetes Day
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: