ไม่พบผลการค้นหา
ทีมนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ สหราชอาณาจักร ประเดิมปี 2018 ด้วยการค้นพบกุญแจดอกสำคัญที่นำไปสู่การรักษาภาวะสมองเสื่อมที่เป็นสาเหตุหลักของ ‘โรคอัลไซเมอร์’

วารสารอิเล็กทรอนิกส์ด้านการวิจัยสมอง (Brain Research) เริ่มต้นปี 2018 ด้วยการเผยแพร่ผลงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ (Lancaster University) สหราชอาณาจักร ที่ค้นพบว่า ยารักษาโรคเบาหวานชนิด 2 (Type 2 Diabetes) อาจกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญของการต่อสู้กับภาวะสมองเสื่อม หรืออาการสูญเสียความทรงจำ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์

ทีมนักวิจัยทำการทดสอบตัวยาดังกล่าวกับหนูดัดแปลงพันธุกรรมให้มียีนตรงกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และเป็นยีนที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนสำคัญในร่างกาย 3 ชนิด ได้แก่ กลูคากอน ลิงค์ เปปไทด์-1 (Glucagon-Like Peptide-1 - GLP-1), แกสตริค อินฮิบิตอรี โพลีเปปไทด์ (Gastric Inhibitory Polypeptide - GIP) และกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แล้ว ขณะเดียวกันยังสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมสภาพอีกด้วย

การวิจัยเก็บข้อมูลจากหนูทดลองที่เดินอยู่ในเขาวงกต จากนั้นไม่นานพวกเขาค้นพบว่า หนูที่ผ่านการรักษาด้วยสารประกอบมีความจำ และความรู้สึกดีขึ้นมาก ซึ่งตัวยาไม่ได้ทำงานเพียงแค่กระตุ้นสมองชั่วครั้งคราวเท่านั้น แต่ดูเหมือนมันช่วยป้องกัน และรักษาสมองบางส่วนที่เสียหายจากแอมีลอยด์ (Amyloid) หรือกลุ่มโปรตีนเส้นใยไม่ละลายน้ำ ที่ค่อยๆ ฆ่าเซลล์ประสาทของผู้ป่วยอัลไซเมอร์

“วิธีการทำงานของตัวยาคือ เข้าไปซ่อมแซมเซลล์ประสาท และช่วยให้สมองกลับมาทำงานอีกครั้ง แต่มันไม่สามารถทำให้เซลล์ประสาทที่ตายแล้วฟื้นคืนได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีเซลล์ประสาทที่ต้องต่อสู้กับภาวะเครียดอยู่จำนวนมาก และมันส่งผลให้สมองทำงานไม่ปกติ ซึ่งนั่นเป็นโอกาสอันดีที่เราจะเปิดหน้าต่างให้กับสมอง” คริสเตียน ฮอลส์เชอร์ (Christian Holscher) จากมหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ กล่าว

เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์สูง ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนตั้งความหวังว่า ยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในวารสารระบุคุณสมบัติของตัวยาว่า มันเสริมสร้างการเจริญเติบโตของสมอง ซึ่งช่วยปกป้องการทำงานของเซลล์ประสาท ลดปริมาณแอมีลอยด์ที่เป็นพิษต่อสมอง ชะลออัตราการสูญเสียเซลล์ประสาท รักษาอาการอักเสบเรื้อรัง และลดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน 

“การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกครั้งแรกแสดงผลการรักษาเช่นเดียวกับในมนุษย์ ไม่ใช่กับแค่หนูทดลองเท่านั้น ส่วนการทดลองทางคลินิกครั้งที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้ ทำกับผู้ป่วยโรคพาร์คินสัน ซึ่งแสดงให้เห็นผลดีจริงๆ ทำให้เราเหมือนใกล้ความสำเร็จเข้าไปทุกที” ฮอลส์เชอร์ กล่าวเสริม

ด้านสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Society) ในสหราชอาณาจักร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการวิจัยดังกล่าวว่า การพัฒนายารักษาโรคอัลไซเมอร์ถือเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องทำการศึกษาด้วยว่า ตัวยาที่พัฒนาขึ้นมารักษาโรคอื่นๆ สามารถเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และสมองเสื่อมได้จริงหรือ เพราะการวิจัยดังกล่าวอาจทำให้มีผู้ต้องการยามากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันประชากรประมาณ 44 ล้านคนทั่วโลกเผชิญกับโรคอัลไซเมอร์ และผลกระทบของมันก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับครอบครัว และเพื่อนๆ ที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการเฝ้ามองคนรักของตัวเองค่อยๆ สูญเสียความทรงจำไป ดังนั้น การรักษาแบบใหม่ๆ จึงกลายเป็นความหวังครั้งสำคัญของมนุษยชาติ