ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีพักโทษ 'สรยุทธ สุทัศนะจินดา' เป็นการพิจารณาตามเกณฑ์คุณสมบัติ และประโยชน์ที่นักโทษพึงได้รับ

อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึง การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ว่า การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โดยเฉพาะโครงการพักการลงโทษนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษระยะสั้น เป็นโครงการสำหรับนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป ที่ได้รับโทษมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ และเหลือโทษที่ต้องได้รับต่อไปอีกไม่เกิน 5 ปี โดยถือว่าเป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พ.ศ. 2560

ซึ่งปัจจุบันสรยุทธ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีกำหนดโทษตามคำพิพากษา 6 ปี 24 เดือน ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2 รอบ คงเหลือโทษต่อไปอีก 2 ปี 4 เดือน 14 วัน

ด้วยเหตุนี้ สรยุทธ จึงมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โดยในวันที่ 13 มี.ค. นี้ เมื่อได้รับการพักการลงโทษปล่อยตัว จะต้องติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ติดตามตัว (EM) และปฏิบัติตนตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างครบถ้วน ตลอดจนรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจนกว่าจะพ้นโทษ

ทั้งนี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยืนยัน การดำเนินการพิจารณาพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษดังกล่าว นอกจากพิจารณาจากคุณสมบัติที่เข้าเกณฑ์แล้ว นักโทษทุกรายจะถูกพิจารณา โดยคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ เพื่อผ่านความเห็นชอบ และได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกชั้นหนึ่ง 


'สมศักดิ์' ย้ำปล่อยตัว 'สรยุทธ์' คือพักโทษ ไม่ใช่พ้นโทษ

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า แม้สรยุทธ์จะได้รับการปล่อยตัวแต่ยังไม่ใช่การพ้นโทษ เป็นการพักโทษจากเหตุพิเศษ ซึ่งเมื่อออกจากเรือนจำต้องสวมกำไล EM เป็นระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2564 - 26 ก.ค. 2566 และต้องรายงานตัวกับกรมคุมประพฤติตามกำหนดจนกว่าจะพ้นโทษคือในวันที่ 26 ก.ค. 2566 โดยที่ผ่านมาสรยุทธ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยการลดโทษมาแล้ว 2 ครั้ง เหลือโทษจำคุก 2 ปี 4 เดือนจากโทษเดิม 6 ปี 24 เดือน ทำให้เข้าข่ายในการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาพักโทษ ซึ่งได้พิจารณาผู้ต้องขังเข้าเกณฑ์การพักการลงโทษเหตุพิเศษ การประพฤติตัวของสรยุทธ์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีการช่วยงานของกรมราชทัณฑ์หลายอย่าง เช่น การช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งหลังจากที่ผู้บริหารมีความกังวลใจว่าจะประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคอย่างไร ก็ได้เล็งเห็นความสามารถของสรยุทธ์ จึงได้ให้มาช่วยงานในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ผู้ต้องขังไม่ตื่นกลัว หลังจากมีการแหกคุกโดยอ้างว่ากลัวโควิด ซึ่งการช่วยประชาสัมพันธ์ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษนั้น หากคดีปล้นฆ่า ข่มขืน ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ หรือคดีร้ายแรงตามที่เราจัดชั้นนักโทษไว้ จะไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ แต่ผู้ต้องขังคดีไม่ร้ายแรงและมีความประพฤติดีเท่านั้นที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งการพักโทษของสรยุทธ์ เราไม่ได้ห้ามทำมาหากิน เพราะเรามีแนวคิดคืนคนดีสู่สังคม และอาจจะให้มาช่วยโปรโมท ทำให้นายจ้างยอมรับคนพักโทษและพ้นโทษได้มากขึ้น แต่หากสรยุทธ์มีการทำผิดในระหว่างนี้จะส่งถูกส่งตัวกลับเข้าเรือนจำและถูกคุมขังจนกว่าจะพ้นโทษ

ทั้งนี้ขณะนี้เรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังประมาณ 320,000 คน และในกลางเดือนนี้จะมีผู้ต้องขังได้รับการพักโทษจากเหตุพิเศษติดกำไล EM อีกประมาณ 10,000 คน ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในเรือนจำได้เป็นอย่างมากตามนโยบายที่เราได้วางเอาไว้



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :