นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. เปิดเผยว่า พม. โพล หรือศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) 1-12 พม. ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็น "สร้างสุขผู้สูงวัย ใส่ใจ ไร้ความรุนแรง" ระหว่างวันที่ 12-22 ก.พ. จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งกระจายทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 4,800 หน่วยตัวอย่าง พบว่า สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการจากคนในครอบครัว ร้อยละ 39.21 ระบุการแสดงออกด้วยการดูแล เช่น ดูแลค่าใช้จ่าย การให้เงิน พาไปพบแพทย์ ร้อยละ 38.21 ระบุการแสดงออกทางคำพูด เช่น บอกรัก ทักทาย ถามสารทุกข์สุกดิบ ร้อยละ 22.1 ระบุการแสดงออกด้วยการสัมผัส เช่น กอด หอม จูงมือ บีบนวด ส่วนความสุขของผู้สูงอายุ ร้อยละ 56.85 ระบุความสุขทางจิตใจ อารมณ์ การได้รับความเอาใจใส่จากลูกหลาน เมื่อให้คะแนนระดับความสุขเต็ม 10 คะแนน พบมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6.61
นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำความรุนแรงในผู้สูงอายุร้อยละ 35.04 ระบุเป็นการทำร้ายจิตใจ เช่น วาจา ด่าทอ ท่าทาง สายตา สีหน้า ร้อยละ 30.98 ระบุการถูกทอดทิ้ง ขาดผู้ดูแล ร้อยละ 23.5 ระบุการทำร้ายร่างกาย โดยผู้กระทำความรุนแรง ส่วนใหญ่ร้อยละ 52 ระบุเป็นบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา ลูกหลาน เมื่อถามถึงสาเหตุที่ผู้สูงอายุถูกกระทำความรุนแรง ร้อยละ 24.8 ระบุ ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง ร้อยละ 23.06 ระบุ ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เนื่องจากความเจ็บป่วยและความพิการ และอันดับ 3 ร้อยละ 13.56 ระบุว่า ผู้ดูแลรู้สึกว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ ร้อยละ 13.6 ระบุผู้ดูแลรู้สึกเป็นภาระ
เมื่อถามถึงสิ่งที่จะทำหากพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.28 แจ้งผ่านผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน/ผู้นำชุมชน/ผู้นำท้องถิ่น ร้อยละ 27.19 แจ้งผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุ ร้อยละ 40.96 ระบุส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว/อบรมสั่งสอน ร้อยละ 38.88 ระบุส่งเสริมการสร้างทัศนคติให้เห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ
เมื่อถามถึงผลดีของเทคโนโลยีต่อผู้สูงอายุ ร้อยละ 69.93 ระบุช่วยให้ผู้สูงอายุติดต่อกับลูกหลานได้ง่ายและสะดวกขึ้น ส่วนผลเสียร้อยละ 55.61 ระบุอาจจะถูกหลอกลวงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ข้อมูลโพลดังกล่าวจะนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานเพื่อผู้สูงอายุต่อไป