เหลืออีก 1 วัน ในวันที่ 27 พ.ค. 2561 ซึ่งเป็นกำหนดการงานประชุมเพื่อจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อประกาศอุดมการณ์และแนวทางของพรรค รวมทั้งโหวตเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
'ชำนาญ จันทร์เรือง' ในวัย 61 ปี 1 ในแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และเคยนั่งในตำแหน่งประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'วอยซ์ ออนไลน์' ถึงทิศทางการขับเคลื่อนของพรรคการเมืองน้องใหม่
เมื่อสมรภูมิการเลือกตั้งนับหนึ่งขึ้น พรรคอนาคตใหม่จะแสดงจุดยืนและอุดมการณ์สำคัญที่จะผลักดันในด้านใดบ้าง
สิ่งที่อยากจะผลักดันให้เกิดขึ้นหลังเข้าร่วมทำงานกับพรรคอนาคตใหม่
ส่วนตัวอยากผลักดันการกระจายอำนาจ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ประชาธิปไตยระดับชาติจะเข้มแข็งโดยปราศจากการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมามีการเสนอร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันได้เพราะเกิดการยุบสภาก่อน และรัฐประหารยึดสภาไป ดังนั้น ถ้า มี ส.ส.ในสภาเพียง 20 คนก็สามารถเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวได้อีก แต่จะต้องรอฟังเสียงของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ก่อนว่าจะเห็นชอบหรือไม่
ที่ผ่านมาไม่ได้กระจายจริงๆ เพียงแต่พยายามกระจาย แต่ก็ยังห่วงยังหวงอยู่ ที่มอบไปแล้วก็ยังตามไป อย่างนโยบายหลายรัฐบาลอย่างไทยเข้มแข็ง และไทยนิยมก็ไปเบียดบังงบประมาณท้องถิ่น และควบคุมโดยหนังสือสั่งการราชการ แต่การปฏิบัติทุกวันนี้เหมือนกับท้องถิ่นอยู่ใต้บังคับบัญชา ซึ่งผิดหลักการปกครองท้องถิ่น
พรรคอนาคตใหม่ตั้งเป้าส่ง ส.ส.อย่างไร
ส่งทุกเขตอยู่แล้ว ตั้งเป้าไว้อย่างนั้น การระดมทุนต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่หัวหน้าพรรคเป็นเศรษฐีเอาเงินกระเป๋าเศรษฐี ก็ไม่ต่างจากของเดิมๆ ถ้าอย่างนั้นผมก็ไม่เข้ามา ก่อนผมก็เข้ามาสอบถามวิธีการจัดการ เงินจะมาอย่างไร ถ้าทุกคนมีส่วนร่วม จากคนบริจาคก็ต้องได้
เป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ แต่ยังไม่มีฐานเสียง ส.ส.
ส.ส.เขต อาจจะลำบาก แต่ระบบใหม่ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) คะแนนเสียงทุกคะแนนถูกนับ ถ้า ส.ส.เขตไม่ได้เลย ถ้าได้คะแนนดิบ เขตละ 2,000 - 3,000 คน ก็ได้ ส.ส. มา 20 - 30 คนแล้ว ถ้าทุกเขต
พรรคมองฐานเสียงตามหัวเมืองใหญ่อย่างไร
ทุกโหวตเตอร์มีความหมาย เราเห็นว่าคนมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อ 8 ปีที่แล้วยังไม่ได้ใช้สิทธิเลยนะ เขามีความอยากจะใช้สิทธิอยู่แล้ว หลายคนมองว่าระบบที่มีอยู่แล้ว เหมือนผมก็ได้รับทาบทามเยอะในพรรคหลัก เมื่อได้รับการทาบทามจากคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผมเป็นนักวิชาการสอนรัฐศาสตร์และกฎหมายแล้ว พรรคนี้ผมรอมาทั้งชีวิตตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง สมัยก่อนไปกาพรรคไหนไม่ได้สักคน เรารอแบบนี้มานานแล้ว
พรรคอนาคตใหม่กำลังคาดหวังฐานเสียงจากผู้ไม่เคยเลือกตั้ง
อันนี้เป้าหมาย ไม่ใช่เจาะเฉพาะกลุ่มเดียว พยายามเก็บคะแนนดิบที่ไม่ถูกทิ้ง ที่ผ่านมาคะแนนที่สองจะทิ้งไปหมด การคำนวณคะแนนดิบที่ผ่านมาทำให้จำนวน ส.ส.ได้มากเกินจริงโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เราไม่ได้ตั้งเป้าเฉพาะเลือกตั้งครั้งนี้ สมมติถ้าแพ้ก็ไม่ได้หยุด ก็ต้องดำเนินการต่อไปสร้างพัฒนาการทางการเมืองขึ้นมาใหม่
พรรคใหญ่มีฐานเสียง แล้วจะทำยังไงให้พรรคมี ส.ส.เข้าสภาได้
ผมเชื่อว่า พรรคใหญ่มีฐานเสียงแต่ไม่เพิ่มขึ้น ประชากรเพิ่มขึ้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้น ฐานเสียงจะลดลงด้วยซ้ำไป ยิ่งปัญหาภายในพรรคใหญ่ของสองพรรคและพฤติกรรมที่ผ่านมา นโยบายของพรรค เน้นกระจายอำนาจ การลบล้างผลพวงรัฐประหาร เปิดโอกาสทางธุรกิจ ปลดล็อกต่างๆ ทุกอย่างโยงกันหมด การกระจายอำนาจต้องมองมิติทางเศรษฐกิจด้วย จะทำให้รายได้ตกอยู่ในท้องถิ่น
"แน่นอนการเลือกตั้งต้องชูประเด็นนี้(ล้างผลพวงรัฐประหาร) ถ้าคนมันตอบรับว่าประเด็นนี้ต้องแก้ เช่น มาตรา 279 (นิรโทษกรรม รับรองอำนาจคณะรัฐประหารของ คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ) ทุกคนเห็นด้วย ก็นำเสนอเข้าสู่รัฐสภาแล้ว ใครจะค้านล่ะ"
จุดยืนของพรรคจะไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก
เราต้องสนับสนุนคนในพรรค 3 คน แคนดิเดตนายกฯยังพูดไม่ได้ ต้องเป็นมติพรรคก่อน แต่พอคาดเดาได้ อยู่ที่มติพรรค และอยู่ตัวคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วยจะตัดสินใจยังไง
ถ้าพรรคอนาคตใหม่มีเสียงพอที่จะเสนอชื่อนายกฯได้ หากรัฐสภาเกิดทางตันเลือกนายกฯ ในบัญชีไม่ได้แล้วไปเสนอคนนอกบัญชีเป็นนายกฯ
ถ้าเป็นคนนอกเราก็ไม่เอา คนนอกหมายถึงไม่ได้มาจากพรรคการเมือง คนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชี 3 คน หรือก๊อกสองเราไม่เอาแน่นอน
ต่อให้มีนายกฯคนนอกมา พรรคอนาคตจะไม่ไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ไม่ร่วมอยู่แล้ว เพราะขัดกับการตั้งพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าใครก็ตาม ส่วนการร่วมรัฐบาลต้องดูพรรคการเมืองที่อุดมการณ์คล้ายกัน ถ้าสอดคล้องก็ยินดี ถ้าไม่สอดคล้องก็เป็นฝ่ายค้านไป
ข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหารจะถูกบรรจุอยู่ในอุดมการณ์ของพรรคหรือไม่
เป็นข้อเสนอของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมจัดตั้งพรรค ส่วนการกระจายอำนาจเป็นส่วนหนึ่งที่ผมเสนอ จะออกมาไงก็อยู่ที่มติพรรค เชื่อว่าสองอันนี้ก็เป็นจุดขายที่สำคัญที่คนสนใจเยอะ คนที่เบื่อรัฐประหารมีเยอะ แต่แสดงออกมาไม่ได้ เมื่อมีคนเสนอนโยบาย วัตถุประสงค์ก็ตรงใจ
ลบล้างผลพวงรัฐประหารจะเสนอวิธีการยังไง
วิธีการทางกฎหมาย อย่างเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เรามองว่ารัฐธรรมฉบับนี้มีปัญหาเยอะ ถ้าใช้วิธีแก้ตามรัฐธรรมนูญจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 พรรคฝ่ายค้านอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เรามีวิธีการแคมเปญประชามติก่อนให้คนมีความเห็นก่อนว่าจะแก้ประเด็นไหน เขาก็ต้องฟัง ผลักดัน เป็นวิธีการก่อนเข้าสู่ระบบรัฐสภา แน่นอนการเลือกตั้งต้องชูประเด็นนี้ ถ้าคนมันตอบรับว่าประเด็นนี้ต้องแก้ เช่น มาตรา 279 (นิรโทษกรรม รับรองอำนาจคณะรัฐประหารของ คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ) ทุกคนเห็นด้วย ก็นำเสนอเข้าสู่รัฐสภาแล้ว ใครจะค้านล่ะ
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกฯ คนนอกหลังการเลือกตั้ง นโยบายของพรรคที่จะผลักดันจะทำอย่างไร
ตัวคนผมไม่กล่าวดีกว่า ตัวคนไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯคนนอก ผมไม่เอาอยู่แล้ว แล้วก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่ดี มีประสิทธิภาพตามอุดมการณ์ของเรา แต่ผมเชื่อส่วนตัวในฐานะนักวิชาการที่เล่นการเมือง ผมว่าคุณประยุทธ์ ไม่เอา ถ้าปีหน้าก็ 5 ปีแล้วไม่รู้ทหารยังเอาอยู่ไหม
กฎเหล็ก คสช. ตอนนี้ยังผูกมัดพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมได้ไม่เต็มที่
ประชุมไม่ได้ พบปะชาวบ้านไม่ได้ ภาวะลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง แก้ง่ายที่สุดคือยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 (การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง) ให้มันเป็นธรรมชาติ ยังไงก็แล้วแต่ยิ่งยื้อไปมีผลต่อเครดิตประเทศ ความน่าเชื่อถือในสายตาระหว่างประเทศ
ประเมินสถานการณ์ตอนนี้ยังคิดว่าจะเกิดการเลือกตั้งในปี 2562 หรือไม่
ผมประเมินว่าเผลอๆ จะเร็วขึ้น เพราะยิ่งยื้อเขายิ่งแย่ลง เขาอาจมองว่าพรรคอนาคตใหม่มาไวมาก ยิ่งนานยิ่งมีโอกาสมากขึ้น ยิ่งเร็วได้ยิ่งดี ไม่น่ายื้อกว่า ก.พ. 2562 ถ้านานกว่านั้นก็ไม่ดีแล้ว จะพากันพังทั้งประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง