จากกรณีที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต สะพานใหม่ คูคต) ตัดต้นไม้ จำนวน 14 ต้น บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.61) กลุ่มตัวแทนภาคประชาชนประกอบด้วย เครือข่ายต้นไม้ในเมือง นำโดย น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ , กลุ่ม Big trees นำโดย นางอรยา สูตะบุตร , สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน , เพจเฮ้ยนี่มันฟุตบาทไทยแลนด์ , อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ ,กลุ่มจตุจักรโมเดล ,ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ม.เกษตรศาสตร์ และเพจกรุงเทพเดินสบาย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบธรรมาภิบาลของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) กรณีตัดต้นไม้บริเวณทางเท้าหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยไม่รอการอนุมัติ
โดยหนังสือระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้สงสัยว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้กระทำการที่แสดงว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่เคารพในกฎกติกาสังคม ไม่รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่เคารพในทรัพย์สมบัติที่เป็นของสาธารณะหรือไม่
ดังนั้นจึงขอเรียงร้องให้ ก.ล.ต. ทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าเข้าข่ายหรือไม่ และหากเข้าข่ายขอให้พิจารณาให้เกิดบทลงโทษ พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางปฏิบัติในอนาคตที่จะบังคับใช้ให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับคุณได้รับโทษอย่างเป็นรูปธรรม
ภาพจากเพจ : เครือข่ายต้นไม้ในเมือง :: Thailand Urban Tree Network
จากนั้น ตัวแทนภาคประชาชนได้เดินทางไปยี่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมขอเสนอข้อเรียงร้อง ดังนี้
1.ขอให้เปิดเผยข้อมูลต้นไม้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายตลอดโครงการ และเปิดเผยแผนการปฏิบัติที่กำหนดไว้เดิม (ตามสิทธิใน พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ)
2.ขอให้มีการตัดและล้อมย้ายต้นไม้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้มืออาชีพมากำกับดูแลการทำงาน
3.ขอให้ทำการตรวจสอบต้นไม้ที่มีการขุดล้อมย้ายไปก่อนหน้านี้ ว่ายังปกติดีหรือไม่ หรือตายไปหมดแล้ว หรือถูกนำไปปลูกยังบ้านผู้บริหารหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือไม่
4.ขอให้มีจุดปลูกเสริม หากจำเป็นต้องมีการตัดทิ้งหรือย้ายต้นไม้
5.ขอให้สร้างวิธีการที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบได้ ว่าหน่วยงานของท่านได้ดำเนินการตามนั้นจริง
6.ขอให้มีการจัดตั้งตัวแทน 4 ฝ่ายเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติต่อต้นไม้ คือตัวแทนจาก กทม. ตัวแทนบริษัทผู้รับเหมา ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน และตัวแทนภาควิชาการ มาหารือร่วมกันว่าควรหรือไม่ที่จะตัดหรือย้ายต้นไม้ต้นไหน อย่างไร และกำหนดแนวทางการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้
7.ขอให้ทบทวนแนวทางการประเมินคุณค่าของต้นไม้ กรณีที่ต้องถูกตัดทำลายลง เพราะอัตราค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเทียบไม่ได้กับคุณค่าของต้นไม้ในเมืองแต่ละต้น ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้คนเมืองได้มากมหาศาล ทั้งการเป็นเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก และเป็นเครื่องฟอกอากาศที่ดูดซับก๊าซพิษ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเครื่องจักรใดๆ มาทำหน้าที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับคนเมืองแทนต้นไม้ในเมืองได้
ทั้งนี้ ในวันจันทร์ ที่ 12 มีนาคม 2561 เวลา 10.30 น. ภาคประชาชนเตรียมเดินทางไปยื่นฟ้องศาลปกครอง
ภาพจากเพจ : เครือข่ายต้นไม้ในเมือง :: Thailand Urban Tree Network
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'อิตาเลียนไทยฯ' ตัดต้นไม้ผิดทางแพ่ง จ่ายเพิ่ม 1.7 แสนบาท ภายใน 7 วัน
-เขตจตุจักรแจ้งความ 'อิตาเลียน ไทย' ตัดต้นไม้หน้า ม.เกษตรจนกุด