ไม่พบผลการค้นหา
กรณีผู้บริหารบริษัทใหญ่ล่าสัตว์ป่าในพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่ากลายเป็น 'ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์' เกิดเป็นคำถามถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะผู้บริหารองค์กรมหาชน ที่ร่วมกันผลักดันประเด็นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) การรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (corporate responsibility) ซึ่งแวดวงตลาดทุนเมืองไทยพูดมาหลายปี

เมื่อปรากฎรายงานข่าวว่า นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตกเป็นผู้ต้องหากรณีร่วมกันล่าสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี และถูกจับกุมในวันที่ 4 ก.พ. ก่อนจะได้รับการประกันตัวในคืนวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา 



27788714_1924173297897569_741051599140250822_o.jpg

(ภาพจากเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)

แม้หลายคนหลายฝ่ายจะออกมาให้ความเห็นว่า 'การเข้าป่าล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า' เป็นประเด็น 'ส่วนตัว' ไม่กระทบ 'องค์กร' แต่ในขณะนี้ก็มีกระแสเปิดแคมเปญหัวข้อ "ร่วมกันบอยคอตบริษัทไทยอิตาเลียน คดีล่าสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่นเรศวรของประธานบริษัท 6 ข้อหา" ใน change.org แล้ว

ขณะที่นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ความเห็นว่า กรณีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนถูกควบคุมตัวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ขอให้เรื่องนี้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ส่วนที่มีประเด็นคำถามจากทั้งสื่อมวลชนและสังคมว่า ผลสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหรือไม่นั้น โฆษก ก.ล.ต. ระบุว่า ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 ไม่ได้ระบุให้ความผิดในเรื่องดังกล่าวเป็นลักษณะที่จะเข้าข่ายขาดความน่าไว้วางใจ

อย่างไรก็ดี บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้มีการจัดทำแนวบรรษัทภิบาลที่ดีของตนเองในระดับที่สูงกว่ากฎหมาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพิ่มความโปร่งใส และการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่ง ก.ล.ต. เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีและสนับสนุน ดังนั้น เมื่อมีข้อสงสัยว่าอาจมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามแนวบรรษัทภิบาลของบริษัทเอง บริษัทนั้น ๆ จึงควรพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรและเปิดเผยให้ผู้ถือหุ้นได้รับรู้ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนต่อไป

หลังจากก่อนหน้านี้ 1 วัน ก.ล.ต.ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ยังต้องมีกระบวนการในการพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ตามกฎหมายหลักทรัพย์ฯ คุณสมบัติของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน จะพิจารณาในเรื่องการบริหารงาน ความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นมืออาชีพในการดำเนินกิจการของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก ซึ่งในเบื้องต้น ยังไม่พบว่ามีส่วนใดเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของบริษัทจดทะเบียน

ส่วนนายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในฐานะหน่วยงานสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย หรือ CGR (Corporate Governance Report) ระบุว่า จากที่มีการสอบถามเกี่ยวกับผลต่อคะแนน CGR ของบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฎข่าวผู้บริหารในขณะนี้ แม้เรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่มีประเด็นที่อาจกระทบคะแนนประเมิน CGR ของบริษัทได้ เช่น การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งรวมถึงสิ่งแวดล้อม และข่าวด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ดังนั้น สถาบันกรรมการบริษัทไทยจะนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาพิจารณาประกอบการประเมินคะแนนในปีนี้ 

ทั้งนี้ การสำรวจและประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย จะทำปีละ 1 ครั้ง และเผยแพร่ผลสำรวจในช่วงเดือน ต.ค. ของทุกปี ซึ่งในการผลสำรวจปีล่าสุด (2560) บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้รับการประเมินจาก IOD ให้อยู่ในระดับ 'ดี' 

ขณะที่นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์และกำกับหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มีเพียงการเอาผิดเรื่องทุจริต ไม่มีข้อใดเอาผิด หรือ จัดการกรณีนายเปรมชัย กรรณสูต ที่เข้าไปล่าสัตว์ในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ ดังนั้น จึงเป็นความผิดบุคคล ตามกฎหมายอื่น และ บริษัทอิตาเลียนไทย อาจถูกลดคะแนนธรรมาภิบาล ซึ่งผู้บริหารของบริษัทฯ จะหารือกันภายในเพื่อหาแนวทาง เพราะความรับผิดชอบส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญ


ค้นบ้านเปรมชัย กรรณสูต

ส่วนนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ให้ความเห็นว่า แนวปฏิบัติบรรษัทภิบาลอิตาเลียนไทยฯ ข้อ 1.6 ที่ระบุเรื่องสิ่งแวดล้อม ยิ่งทำให้สังคมติดตาม เพราะจากภาพที่เห็น ชัดเจนว่ามีการสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น การเที่ยวป่าล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของ 'บิ๊ก บจ.' ครั้งนี้ จึงเป็นอีกจุดอ้างอิงของคนในตลาดทุนที่พยายามสร้างระบบนิเวศของธุรกิจ และเป็นแรงกดดันทางสังคม ตีกลับไปที่คณะกรรมการบริหาร หรือ บอร์ดของบริษัทดังกล่าวว่าจะตัดสินใจอย่างไรในกรณีอื้อฉาวนี้ 

ทั้งนี้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2537 ในหมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 5,279 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 19,641 ล้านบาท และนายเปรมชัย กรรณสูต เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 14.88%