ไม่พบผลการค้นหา
อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามโครงการ 'เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ' ยุค คสช. ชูจุดแข็ง 'วัฒนธรรมหลากหลาย-แหล่งปลาบึกขึ้นชื่อ' แต่ 'ปลาบึกตามธรรมชาติ' แทบไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน

ปลาบึก หรือ giant catfish เป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจากข้อมูลของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่าปลาบึกที่โตเต็มที่มีความยาวเฉลี่ยได้ถึง 3 เมตร น้ำหนักกว่า 300 กก. และเป็นปลากินพืช โดยมีอาหารหลักคือ 'สาหร่ายน้ำจืด' 

พื้นที่ริมแม่น้ำโขงใน อ.เชียงของ อ.เชียงแสน และ อ.เวียงแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำโขง จ.เชียงราย เคยเป็นแหล่งจับปลาบึกขึ้นชื่อในอดีตเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะเขต อ.เชียงของ เคยจับปลาบึกได้สูงสุดถึง 65 ตัวต่อปีเมื่อ พ.ศ. 2533 

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใน จ.เชียงราย เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ธรรมชาติของปลาบึก ปกติจะขึ้นมาวางไข่ในต้นน้ำ ในอดีตจะเจอที่เชียงของ ประมาณกลางเดือน เม.ย.จนถึงเดือน พ.ค. โดยแหล่งจับปลาบึกที่จับได้เยอะที่สุด คือ บ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ ทำให้ชาวบ้านในแถบนี้หลายครัวเรือนมีรายได้หลักจากการหาปลา แทนที่จะทำไร่ ทำนา ทำสวน 

ก่อนหน้านั้นเคยมีการศึกษาวิจัยเรื่องของพันธุ์ปลาโดยกรมประมง พบว่าปลาในลุ่มน้ำโขง ในพื้นที่ภาคเหนือ แถบเชียงของ เชียงแสน เวียงแก่น มีอยู่ประมาณ 200 ชนิด แต่ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา มีการสำรวจวิจัยแบบไทยบ้าน คือ กลุ่มอนุรักษ์ร่วมมือกันกับชาวประมงในพื้นที่ พบว่าปลาที่จับได้ในแม่น้ำโขง ลดลงเหลืออยู่ที่ประมาณ 86 ชนิด ซึ่งรวมถึงปลาบึก

AFP-ปลาบึก-แม่น้ำโขง-กัมพูชา

(ปลาบึกพบได้เฉพาะในแม่น้ำโขง ทั้งที่ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย โดยในภาพเป็นการจับปลาบึกที่กัมพูชา)

หลังจากปี 2539 เป็นต้นมา ชาวประมงต่างจับปลาบึกได้ลดลง จนทางการไทยต้องประกาศเงื่อนไขในการจับปลาบึก โดยระบุว่าชาวประมงน้ำจืดจะต้องขออาชญาบัตรและนำปลาบึกที่จับได้ไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบขยายพันธุ์โดยการผสมเทียมเสียก่อน เพื่อการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์

ต่อจากนั้น ช่วงปี 2544-2546 ชาวประมงไม่สามารถจับปลาบึกบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงของได้เลย จนกระทั่งรัฐบาลไทยประกาศห้ามจับปลาบึกอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา และปลาบึกได้ถูกบรรจุลงในบัญชีสัตว์คุ้มครองของอนุสัญญาระหว่างประเทศ 'ไซเตส' ไปแล้วด้วย 

การทำประมง 'มีความเสี่ยง' เพิ่มขึ้น

ก่อนที่ปลาบึกจะหายไปจากแม่น้ำโขง จนนำไปสู่การประกาศห้ามจับปลาบึกโดยเด็ดขาด ชาวประมงในพื้นที่พบว่าปลาสายพันธุ์อื่นๆ ในแม่น้ำโขงก็หายไปด้วยเช่นกัน

โดย ชัยวัฒน์ ดวงธิดา ชาวประมงแห่งบ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ปลาในแม่น้ำโขงเริ่มน้อยลงไป หลายชนิดหายากขึ้น โดยเขาสังเกตว่า หลังจากที่ประเทศลาวสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงซึ่งเชื่อมต่อกับไทย ทำให้การขึ้นลงของระดับน้ำเปลี่ยนแปลงไป ปลาไม่ไปวางไข่ตามแหล่งเดิม ทำให้ปลาที่เคยหาได้ 'หายไป'

ชัยวัฒน์ระบุว่า เขาไม่สามารถหาเลี้ยงชีพด้วยการประมงเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะปลาที่จับได้น้อยลง ไม่เพียงแค่ปลาบึก ซึ่งแม้ชาวประมงจะเลิกจับไปหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่มีผู้พบเห็นปลาบึกตามธรรมชาติเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ครอบครัวของเขาจึงผันตัวไปทำสวนผลไม้เป็นหลัก และหาปลาเป็นอาชีพเสริม

อย่างไรก็ตาม การทำประมงในยุคหลังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แม้จะทำเป็นอาชีพเสริม เพราะหลายครั้งที่เขาวางตาข่ายดักปลาเอาไว้ แต่เจอเหตุพลิกผันเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านปล่อยน้ำจากเขื่อน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนไปเก็บกู้อุปกรณ์ประมงไม่ทัน จึงต้องสูญเสียเครื่องมือหาปลาไปอยู่บ่อยๆ

เชียงของ-แม่น้ำโขง-เชียงราย-สะพานมิตรภาพไทย-ลาว

สมเกียรติ แห่งกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างเขื่อนในลาว ก็มีการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในมณฑลยูนนานของจีนเกิดขึ้นแล้ว นับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา เขื่อนหลายแห่งอยู่ตามแนวแม่น้ำโขงตอนบน เมื่อจีนดำเนินการเก็บกักน้ำหรือปล่อยน้ำเพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตกระแสไฟฟ้า ก็ส่งผลกระทบต่อประเทศกลางน้ำและปลายน้ำของแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงประเทศไทย และวิถีของแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนที่อาศัยตามลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

ปัจจุบัน ปลาบึกและปลาอื่นๆ ที่เป็นปลาชื่อดังของจังหวัดริมแม่น้ำโขง มาจากการเพาะเลี้ยงและการนำเข้า โดยสมเกียรติระบุว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราระบบนิเวศโดยรวมของแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป น้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ พันธุ์พืช เช่น สาหร่ายที่อยู่ในแม่น้ำ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามฤดูกาล ทั้งที่มี 60 กว่าชนิด และชนิดหนึ่งเป็นอาหารของปลาบึก คือ 'ไก' เมื่อพืชเหล่านี้ไม่สามารถเจริญเติบได้ ก็ส่งผลกระทบต่อปลากินพืชทุกชนิด


"เรื่องสำคัญคือต้องหาแนวทางอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงเป็นอันดับแรก...อันดับที่สองก็อาจจะต้องมีการศึกษาวิจัยเรื่องการลดลงของชนิดพันธุ์ปลา รวมถึงปลาบึกในแม่น้ำโขง" สมเกียรติกล่าว


ไม่มีปลาบึก แต่ยังมี 'อัตลักษณ์' ของชุมชน

อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ในโครงการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งประกาศระยะดำเนินการโครงการนี้ระหว่างปี 2560-2564 โดยระบุว่า 'เชียงของ' มีจุดแข็งตรงที่เป็นพื้นที่ชายแดน ติดต่อกับ สปป.ลาวและมณฑลยูนนานของจีน มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม มีสะพานมิตรภาพ 'ไทย-ลาว' มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาบึกที่มีชื่อเสียง

เชียงของ-แม่น้ำโขง-เชียงราย-ผ้าซิ่น-เย็บผ้า-คนแก่-ผู้สูงวัย

แม้ว่าปัจจุบัน 'ปลาบึกตามธรรมชาติ' จะหายไป แต่ยังมีการเพาะพันธุ์ปลาบึกที่ได้รับการกำกับดูแลจากกรมประมง และแผนการพัฒนาของรัฐบาลพยายามมุ่งเน้นศักยภาพในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งด้านชุมชนเก่าแก่ แถบอำเภอเวียง รวมถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่น และการผลักดันให้พื้นที่แถบนี้เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังจีนและลาว

อย่างไรก็ตาม หากถามความเห็นของชัยวัฒน์ที่ผันตัวจากชาวประมงมาเป็นเกษตรกร โอกาสที่จะเข้าไปแข่งขันด้านธุรกิจการค้าในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอาจเป็นเรื่องไกลตัว เพราะครอบครัวของเขาอยู่ใน อ.เวียงแก่น ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกหลายกิโลเมตร เขาจึงไม่คิดว่าชาวบ้านที่อยู่รอบนอกจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากนัก โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีเครือข่ายหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้อง


"บ้านผมมันอยู่ไกลเกินกว่าเชียงของ ถ้าจะเอาของอะไรไปส่ง ก็ไม่รู้จักตลาดของเขา เขามีนายทุนของเขาอยู่"


เมื่อสอบถามถึงกรณีที่รัฐบาลลาวประกาศว่าจะก่อสร้างเขื่อนตามแนวแม่น้ำโขงอีกแห่งหนึ่ง ชัยวัฒน์ก็ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อประเทศใกล้เคียงอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะแม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำที่หลายประเทศใช้ร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม: