ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางในนามกลุ่ม 15 ผู้แทนสวนยางภาคใต้มาตามนัด เดินทางยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตกร ให้ปลดผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการพ้นหน้าทีเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้
นายมนัส บุญพัฒน์ ผู้ประสานงานกลุ่ม 15 ผู้แทนสวนยางใต้ กล่าวว่า วันนี้ตัวแทนชาวสวนยาง15 กลุ่มได้รวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือต่อ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องให้ปลดนายธีธัช สุขสะดา ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท) และคณะกรรมการบริหารการยางทั้งคณะ เพราะการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งบกพร่อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเสถียรภาพราคายาง
นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดการสะต๊อกยางพาราในโครงการ ที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลบางกลุ่ม ตามข้อเท็จจริงดังนี้
1.การประกาศให้มีการประมูลยางและสต๊อกรัฐบาลวันที่ 16 ธันวาคม 2559 และครั้งต่อๆมา โดยปล่อยเอกสารในการประกาศที่มีชื่อผู้ว่าการยางฯท้ายเอกสาร (ไม่ได้ลงนาม)ออกเผยแพร่ในวันศุกร์ที่ 16 ธ.ค. 2559 แต่มีผลตามคำประกาศในวันจันทร์ที่ 19 ธ.ค. 2559 ซึ่งทำให้มีการขนยางเข้าตลาดทุกแห่งจนเกิดปัญหาการประมูล และราคาอ้างอิงในตลาดลดลงทันที และทำให้ผู้ประกอบการที่ซื้อขายส่งออกสามารถกดราคาจากการประมูลได้
2.การบริหารจัดการยางในโครงการหน่วยธุรกิจ กยท.และบริษัทร่วมทุนถูกปล่อยให้ยางคุณภาพชั้นดีกองเต็มพื้นที่ในตาดกลางของ กยท.เกือบทุกตลาด ทำให้ยางเสื่อมสภาพและราคายางต่ำลง ซึ่งเป็นความเสียห่ายต่อการจัดการเงินจากภาษี และยังทำให้ตลาดยางพาราหลายแห่งต้องขาดสภาพคล่องจนต้องปิดทำการตลาด ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน
3.ออกระเบียบขึ้นภาษีส่งออกจากระบบขั้นบันได เป็นอัตราคงที่ 2 บาททุกราคาต่อหนึ่งกิโลยาง ทั้งที่สภาวะราคายางมีแต่ต่ำลงจนราคาต่ำกว่า 60 บาท
4.การให้ข่าวของผู้ว่าการยางฯไม่ได้สร้างเครดิตให้กับราคายาง ดังจะเห็นได้จากการซื้อขายผ่านตลาดเอกชนและบริษัทต่างๆหรือแแม้กระทั่งตลาดกลางของ กยท.ไม่ได้มีผลชี้นำราคาและการดูดซับปริมาณยางเพื่อเพิ่่มูลค่าตามนโยบายแต่กลับทำให้เกิดราคาผิดเพี้ยนจากราคาจริง ที่อาจจะเอื้อประโยชน์ทำให้เกิดเสียเปรียบได้เปรียบเป็นจำนวนมากต่อตลาด จนเป็นที่มาของคำว่าวิกฤติราคายาง
5.จับมือกับบริษัทส่งออกเป็นบริษัทร่วมทุนในการประมูลยางในตลาดกลาง โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากเกษตกร และสถาบันการเกษตร จนทำให้เกิดความเสียหายล้มเหลวเป็นที่มาของวิกฤติราคายางอีกเช่นกัน
6.ตลอดเวลาที่บริหารคณะกรรมการชุดนี้ ได้ใช้จ่ายเงินประเดิมขวัญถุงจาการเริ่มต้นรวมสามองค์กรจนมาเป็น กยท.ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2558 ด้วยทุนอัตรา 15 % จนหมดสิ้นและไม่มีหนทางที่จะทำกำไรเพื่อคืนเงินส่วนนี้ให้กับองค์กรได้ จนทำให้การบริหารภายใน กยท.ต้องปรับลดจำนวนบุคลากรและสวัสดิการของพนักงานลงในทุกระดับ
นายมนัส ยืนยันว่าหลังจากยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรแล้วจะให้เวลาถึงวันที่ 20พ.ย.60 ว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องหรือไม่หากไม่ดำเนินการปลดผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยออกจะเคลื่อนไหวใหญ่ทันที