นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 ก.ค. ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... หรือ ร่างพ.ร.บ. ภาษีลาภลอย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยเหตุผลการเสนอ ร่าง พ.ร.บ. นี้ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการลงทุนจัดทำโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ จำนวนมาก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
ดังนั้น เมื่อโครงการฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการจนกระทั่งแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ที่ดินและห้องชุดบริเวณรอบโครงการฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าว จึงเห็นควรให้มีการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดอันเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการฯ และนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ
2) โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง
3) การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
4) พื้นที่จัดเก็บภาษี กำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะจัดเก็บภาษีในแต่ละโครงการฯ
5) หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯตั้งอยู่
6) ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ให้คำนวณจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ
สำหรับโครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ ให้ใช้วันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้เป็นวันเริ่มต้นในการคำนวณฐานภาษี
ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าที่ดินและห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ ในกรณีห้องชุดไม่สามารถคำนวณส่วนต่างของมูลค่าห้องชุดได้ เนื่องจากไม่มีราคาประเมินห้องชุดให้คำนวณส่วนต่างดังกล่าวเท่ากับร้อยละ 20 ของมูลค่าห้องชุด
7) การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือห้องชุดที่คำนวณได้คูณด้วยอัตราภาษี
8) อัตราภาษี กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บได้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา
9) ภาษีที่จัดเก็บได้ให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน
10) โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ หรือโครงการฯ ที่จะก่อสร้างภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ กว่าจะมีผลบังคับใช้
"หลักการภาษีคือ สร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี ใครได้มูลค่าเพิ่มจากโครงการพัฒนาก็ต้องเป็นผู้เสียภาษี ซึ่งกฏหมายฉบับนี้จะไม่เหมือนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินต้องจ่ายเป็นรายปีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ถ้ามีคนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ที่ประกาศอยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร จากโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ก็ต้องเสียภาษีลาภลอย ซึ่งเป็นการจ่ายครั้งเดียว" นายพรชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :