ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่ส่งออกและท่องเที่ยวชะลอตัว

นางพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนกันยายน 2561 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ด้วยปัจจัยหลัก คือมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยหดตัวร้อยละ 5.5 เมือเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัยคือ

  • การเร่งการส่งออกสินค้าบางประเภทในช่วงก่อนหน้า เช่น มีการเร่งการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศออสเตรเลีย
  • ผลกระทบของวาตภัยในประเทศคู่ค้าของไทยอาทิ ญี่ปุ่น ฟิลิิปปินส์ และฮ่องกง ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ทำให้การส่งออกไปประเทศดังกล่าวหดตัว
  • ผลของฐานสูงจากการส่งออกโทรศัพท์มือถือตามการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ในปีก่อน และการเร่งส่งออกโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้าก่อนใช้มาตรการ Safeguard ของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี สินค้าที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ เครื่องประดับและอัญมณี เครื่องจักรและอุปกรณ์ และสินค้าเกษตรยังคงขยายตัวได้ดี


"มีโอกาสที่มูลค่าการส่งออกต้องมีการปรับประมาณการ" นางพรเพ็ญ กล่าว

ส่วนการหดตัวในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ และหมวดยางและพลาสติก โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น มีตัวเลขติดลบร้อยละ 4.5 สำหรับหมวดยานยนต์ และติดลบร้อยละ 8.9 ในหมวดยางและพลาสติก เมื่อมองภาพรวมนั้นจะเห็นได้ว่าอัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้นติดลบที่ร้อยละ 2.6

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยมีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมาช่วยหนุนมากในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่องหลังการเลือกตั้งของมาเลเซีย และผลฐานต่ำในปีก่อนที่มีการเหลื่อมเดือนของวันหยุด ประกอบกับนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดียขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าประเทศไทยยังไม่สามารถเรียกความมั่นใจคืนมาได้จากนักท่องเที่ยวจีนมากนัก ตั้งแต่เหตุการณ์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง


ปัญหานักท่องเที่ยวจีนขึ้นอยู่กับแนวทางการแก้ไข เท่าที่ผ่านมา เวลานักท่องเที่ยวเกิด "ช็อค" ขึ้น การฟื้นตัวใช้เวลาไม่นานมาก แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการให้ความมั่นใจกับเขา(นักท่องเที่ยวจีน)ด้วย


การบริโภคภาคเอกชน-การใช้จ่ายภาครัฐแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3

ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกันยายนนั้นขยายตัวดีต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน แม้จะมีการชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (สิงหาคม) การบริโภคภาคเอกชนนั้นขยายตัวได้ดีในทุกหมวดยกเว้นหมวดสินค้าไม่คงทนซึ่งมีการเร่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต

เมื่อมองไปที่รายได้ครัวเรือนพบว่า รายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวและกระจายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมหดตัวลงติดลบที่ร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

สำหรับปัจจัยด้านการลงทุนของภาคเอกชนทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนหน้า มีการขยายตัวเล็กน้อยในการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ขณะที่มีการหดตัวในหมวดก่อสร้างสัมพันธ์กับพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง

อีกปัจจัยที่ยังช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยอยู่คือ การใช้จ่ายภาครัฐ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายประจำของรัฐเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ค่อนข้างเติบโตได้ดีที่ร้อยละ 14.2

อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐนั้นปรับตัวลดลง ติดลบที่ร้อยละ 2.7 ซึ่งเป็นผลมาจากฐานสูงจากการเร่งเบิกจ่ายงบเพิ่มเติมของกลุ่มจังหวัดในปีก่อน

โดยสรุปเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกือบทุกหมวด การใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชนเองก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีด้วยปัจจัยจากสงครามการค้าและภัยธรรมชาติก็ทำให้มีอุปสงค์จากต่างประเทศลดลงกระทบการส่งออกของไทยอย่างหนักในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งไทยยังต้องเผชิญปัญหาการเรียกความเชื่อมั่นกลับมาจากนักท่องเที่ยวจีนที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ส่วนจะมีการปรับลดค่าประมาณของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยขอรอดูตัวเลขในเดือนตุลาคมก่อน