ไม่พบผลการค้นหา
สศช.เปิดเผยจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 4.8 สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส เป็นผลจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวเติบโตขึ้น 'รองนายกฯ สมคิด' ชี้ตัวเลขดี สร้างความมั่นใจเอกชนลงทุน ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจ ไทยพาณิชย์ห่วงครัวเรือนรายได้น้อย ติดบ่วงหนี้ ฉุดรั้งกำลังซื้อ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผย ตัวเลข GDP ไตรมาสแรกปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.8 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส จากปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจทุกรายการ

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ไตรมาส 1 ปี 2561 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 จากไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส 

เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ร้อยละ 2.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนร้อยละ 3.6 การใช้จ่ายภาครัฐปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.9 การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 6.0 การส่งออกมีมูลค่า 61,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.9 ในทุกตลาดส่งออก ภาคการเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.5 อุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.7 โรงแรมภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 12.8 ก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.2 การค้าขยายตัวร้อยละ 7.0 และขนส่งขยายตัวร้อยละ 7.2 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราว่างงานอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 1.2 อัตราเงินเฟ้อทั้งไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.6

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2561 สศช. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2-4.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐอยู่ในเกณฑ์สูง การฟื้นตัวการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่ภาพรวมการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 8.9 

ในส่วนของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2561 ควรให้ความสำคัญ 4 แนวทางหลัก ได้แก่ การดูแลการส่งออกให้สามารถขยายตัวเต็มศักยภาพที่ร้อยละ 8.9 การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้ขยายตัวตามเป้า การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน

'สมคิด' มั่นใจเศรษฐกิจดีขึ้นทุกตัว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2561 ที่ สศช.แถลงระบุว่า เติบโตร้อยละ 4.8 สะท้อนว่าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย ทุกเศรษฐกิจทุกภาคดีขึ้นทั้งหมด การลงทุนของภาคเอกชนสูงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ภาคเกษตรโตได้เป็นที่น่าพอใจ แม้ภาคเกษตรจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ตอนนี้เริ่มคลายตัวแล้ว เป็นสิ่งที่รัฐบาลลงทุนทำมาทั้งหมด ส่งออกก็เติบโตได้ต่อเนื่อง การท่องเที่ยวก็ดีมาก เป็นเครื่องสะท้อนว่าทุกกลุ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน

"พูดได้คำเดียวว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ทำงานอย่างหนัก ร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มแสดงผลแล้ว และเป็นสิ่งที่เกิดจากเราไม่ยอมรับสภาพ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการทำนายตัวเลขเศรษฐกิจและตัวเลขส่งออกต่างๆ ซึ่งเราดูทุกตัวและก็ตั้งใจว่าจะทำให้ดีกว่าที่ทำนายไว้ ซึ่งจีดีพีไตรมาส 1 ที่โตได้ร้อยละ 4.8 เป็นการโตสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ 5 ปี เราใช้เวลาถึง 5 ปี ถึงจะมาถึงจุดนี้ได้ เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีแบบนี้ สิ่งที่จะตามมา คือ ความมั่นใจและความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รายได้ ทุกอย่างหลังจากนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับการลงทุนภาครัฐภาคเอกชน หรือ PPP ที่รัฐบาลจะผลักดันให้ออกมาตามเป้าหมาย จะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ" นายสมคิด กล่าว

พร้อมกับระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องตอนนี้ เกิดจากบ้านเมืองมีความสงบ ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ การทำงานของรัฐบาลอย่างหนักเป็นเครื่องสะท้อนชัดเจนถึงความตั้งใจ

อัตราเติบโตการบริโภค-ลงทุนเอกชนไตรมาสแรกดีกว่า ธปท. คาดการณ์

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2561 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 4.8 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 2.0 จากไตรมาสก่อน มีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการบริโภคที่เร่งตัวและอุปสงค์จากต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐกลับมาฟื้นตัว 

"เมื่อเทียบกับประมาณการล่าสุดของ ธปท. ในเดือนมี.ค. 2561 ต้องถือว่าตัวเลขที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้พอสมควร จากการใช้จ่ายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนที่มากกว่าคาดเป็นสำคัญ โดยเฉพาะตัวเลขการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนการกระจายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนในประเทศที่ดีกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้" นายดอน กล่าว

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปประเมินว่าการใช้จ่ายในประเทศและอุปสงค์จากต่างประเทศที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยจะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน มิ.ย. 2561

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการค้าระหว่างประเทศ ราคาน้ำมันดิบ และการกระจายตัวของกำลังซื้อในประเทศ

SCB EIC ชี้ครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลางผจญปัญหาหนี้ กดดันกำลังซื้อ

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เผยแพร่บทวิเคราะห์ ระบุว่า จีดีพีไตรมาส 1/2561 สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ จากก่อนหน้านี้อีไอซีประเมินมีโอกาสสูงจีดีพีทั้งปีจะโตมากกว่าร้อยละ 4 แต่เมื่อจีดีพีไตรมาสแรกที่ประกาศออกมาสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด (รวบรวมโดยสำนักข่าว Bloomberg) ซึ่งประเมินว่าขยายตัวร้อยละ 3.9 ไปค่อนข้างมาก และเป็นการขยายตัวที่ดีขึ้นในทุกหมวดสำคัญ 

ดังนั้น อีไอซีจึงมองว่าข้อมูลที่ออกมาดีเป็นสัญญาณของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในด้านการใช้จ่ายของภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะในด้านการลงทุนที่มีสัญญาณการฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมิน อีไอซีคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากหลายปัจจัย นำโดยกำลังซื้อจากต่างประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโมเมนตัมการขยายตัวที่แข็งแรงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 

ทั้งนี้ แรงส่งจากต่างประเทศที่ดีต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มฟื้นตัวจะมีส่วนช่วยทำให้การลงทุนภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้วจากการใช้จ่ายด้านสินค้าคงทนที่ยังเติบโตดี ประกอบกับการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ทั้งนี้ ประมาณการการเติบโตเดิมของอีไอซีที่ร้อยละ 4 มีโอกาสสูงที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวดีกว่าที่คาด

โดยการกระจุกตัวของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเริ่มคลี่คลายและมีสัญญาณบวกสำหรับในระยะต่อไป ในช่วงที่ผ่านมาการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตด้วยสินค้าคงทนที่ขยายตัวสูง ขณะที่สินค้าไม่คงทนขยายตัวต่ำสะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการใช้จ่ายครัวเรือนที่มีการพึ่งพากลุ่มผู้มีรายได้สูงมาโดยตลอด สาเหตุมาจากรายได้ของครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลางได้รับผลกระทบจากรายได้ภาคเกษตรที่ลดลงและอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจีดีพี ที่ประกาศออกมา การกระจุกตัวดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลงบ้าง หลังการใช้จ่ายทั้งในหมวดสินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทนเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดยังสะท้อนถึงสัญญาณบวกจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า เช่น รายได้ภาคเกษตรที่เริ่มกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเดือน เม.ย.ปีก่อน หลังจากหดตัวมา 9 เดือนติดต่อกัน อัตราการว่างงานเดือน เม.ย. ที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากต้นปีที่อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากจำนวนการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน 

อีกทั้งค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรของลูกจ้างคนไทยแบบปรับฤดูกาลก็ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกเดือนเฉลี่ยร้อยละ 3.9 ในไตรมาสแรก นำโดยสาขาธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมากอย่าง ภาคอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและร้านอาหาร โดยทั้ง 3 สาขาจ้างงานรวมกันราว 15 ล้านคน 

อย่างไรก็ดี แม้ในฝั่งรายได้จะเริ่มเห็นสัญญาณบวก แต่ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางยังคงมีปัญหาภาระหนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ในปี 2560 พบว่า ภาระหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การกลับมาเพิ่มการใช้จ่ายของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวในระยะต่อไปเกิดขึ้นได้ไม่เร็วนัก

ชี้ 3 ความเสี่ยง 'บาทแข็ง-นโยบายกีดกันการค้า-นโยบายการเงินโลกผันผวน'

นอกจากนี้ SCB EIC ยังประเมินความเสี่ยงภายนอกกระทบไทยไม่มาก แต่ควรจับตาตลอดทั้งปี โดยระบุว่า มีความเสี่ยงจากภายนอกที่สำคัญ 3 ประการอันประกอบไปด้วย การแข็งค่าของเงินบาท นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความผันผวนทางการเงินอันเป็นผลมาจากนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัว แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงยังมีจำกัด สำหรับประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาเงินบาทเริ่มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องทำให้แรงกดดันในส่วนนี้คลี่คลายลงบ้าง 

ขณะที่ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยยังมีไม่มาก เพราะสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องซักผ้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก ยังสามารถกระจายความเสี่ยงไปส่งออกตลาดอื่นๆ ได้ ในส่วนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศที่สูงขึ้น ทำให้ภาวะการเงินของไทยตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ไม่กระทบภาคเศรษฐกิจจริงมากนัก เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศยังมีอยู่มากและพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังเข้มแข็ง 

อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าความเสี่ยงดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะยังมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในภาคการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีได้ พร้อมกับต้องจับตาดูความคืบหน้าประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังจากมีการชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างสองประเทศไว้ชั่วคราวและทั้งสองประเทศจะมีการเจรจาการค้าต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินโลกและทิศทางค่าเงินบาทที่ยังมีความผันผวนสูง

กสิกรไทยจับตาปัจจัยต่างประเทศ กดดันจีดีพีไทย

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่จะขยายตัวเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.5-4.5 (ค่ากลางที่ร้อยละ 4.0) จากองค์ประกอบทางเศรษฐกิจทั้งภาคต่างประเทศ และการใช้จ่ายในประเทศมีทิศทางการเติบโตที่ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งน่าจะมีผลจำกัดต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีกำหนดการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนมิ.ย. 2561 นี้

ข่าวเกี่ยวข้อง :