ไม่พบผลการค้นหา
'ประยุทธ์'เผยส่ง ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. คืนกลับไปให้ สนช. นำส่งศาล รธน. ตีความแล้ว เตือนนักการเมืองอย่าสร้างความวุ่นวาย ด้าน ประธาน สนช. เผยส่งกฎหมาย ส.ส. ให้ศาล รธน. ทันที

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เปิดเผยว่า เตรียมส่ง คืนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเองแล้ว ส่วนจะมีการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 ตามที่นักการเมืองออกมาเรียกร้องหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ากำลังพิจารณาอยู่

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า อยากขอร้องว่า ในเมื่อทุกคนอยากเลือกตั้งตามโรดแมปที่กำหนดก็ขออย่าพูดอะไรให้เสียหายหรือสร้างความวุ่นวายให้มากนัก เพราะท้ายที่สุดความรับผิดชอบก็ตกอยู่ที่รัฐบาลอยู่ดี เพราะรัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยด้วย และไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับคนอื่น และยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งมั่นไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ต้องคิดกันต่อว่า หลังจากที่มีการเลือกตั้งไปแล้ว ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ขอฝากคำถามไปยังฝ่ายการเมือง แต่หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นจะต้องได้รับการแก้ไข

"หากบอกว่ารัฐบาลนี้ทำไม่ดี คนที่เข้ามาจะต้องทำให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลย และกลับไปสู่ปัญหาเดิมๆ และประชาชนก็เข้าใจแบบเดิมๆ ดังนั้นจะต้องสร้างการรับรู้กับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ว่าเราควรแก้ไขปัญหาประเทศอย่างไร หากโจมตีกันไปมาก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น ผมไม่ใช่ศัตรูของท่าน ผมเป็นคนไทยและท่านก็เป็นคนไทย ซึ่งการเป็นคนไทยก็ต้องทำให้ประเทศเกิดความมั่นคง มีเสถียรภาพ จึงนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไปในอนาคต" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

ประธาน สนช. ชงศาล รธน. ตีความทันที

ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เปิดเผยว่า ได้ลงนามหนังสือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่ สมาชิกสนช.27 คนยื่นมาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ 2 ประเด็นว่าด้วยการตัดสิทธิและการช่วยเหลือผู้พิการในการกาบัตร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กำลังรอส่งทางธุรการ หากทันส่งให้วันนี้ก็จะส่งไป หากไม่ทันก็ต้องเป็นวันที่ 3 เม.ย. เพราะทางศาลรัฐธรรมนูญจะปิดรับในเวลาดังกล่าว 

นายพรเพชร เชื่อว่าการยื่นตีความครั้งนี้ไม่น่าจะทำให้ไทม์ไลน์ของการเลือกตั้งจะต้องยืดออกไป เพราะการคำนวณเวลาที่เกี่ยวข้องเป็นการคำนวณบนตัวเลขสูงสุด ซึ่งแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถทำให้ได้เสร็จก่อนเวลาที่กำหนด เช่น สนช. พิจารณาการสรรหา กกต. ชุดใหม่ที่กำหนดไว้ 90 วัน หรือ กกต. จะกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน ก็อาจไม่จำเป็นต้องทำจนเต็มเวลา