นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถยื่นตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ เพราะถ้าประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วมีผู้ได้รับผลกระทบและมีการยื่นตีความอีกจะทำอย่างไร ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. จึงบอกให้ยื่นตีความกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง แต่ สนช. ก็กลัวว่าจะถูกหาว่าทำให้การเลือกตั้งต้องยืดออกไป
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า หากจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้วเกรงว่าจะกระทบโรดแมปเลือกตั้ง ส่วนตัวแนะนำให้ยกเลิกในประเด็นที่กำหนดมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลใช้บังคับหลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วัน โดยพล.อ.ประยุทธ์ บอก สนช.ได้ว่าเงื่อนเวลา 90 วันไม่มีความจำเป็นแล้ว ซึ่งแม่น้ำ 5 สายสามารถคุยกันได้ แต่ส่วนตัวไม่อยากให้ใช้อำนาจมาตรา 44
ประธาน สนช. ยันไม่ส่งตีความ กม.เลือกตั้ง ส.ส.
ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ระบุว่า ตนได้ลงนามส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเช้าวันนี้ (19 มี.ค.) แล้ว โดยมี สมาชิก สนช.ร่วมลงชื่อทั้งหมด 30 คน ส่วนกรณีนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. เสนอให้พรรคการเมืองทำสัตยาบันเลื่อนโรดแมปออกไปเพื่อแลกตีความ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น ส่วนตัวไม่มีความเห็น
นายพรเพชร ย้ำว่า ส่วนตัวเห็นว่าประเด็นในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ทักท้วงก็ไม่มีปัญหา ส่วนประเด็นคนพิการให้บุคคลอื่นช่วยเหลือในการลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้งก็ควรมีการช่วยเหลือให้การใช้สิทธิมีความสมบูรณ์ถูกต้อง ดังนั้น คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ กรธ. อ้างมานั้นไม่อาจนำมาปรับใช้ได้กับการช่วยเหลือคนพิการตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากการช่วยเหลือคนพิการ มีคนรู้การลงคะแนนเพิ่มอีกคนเดียว ไม่ใช่การเปิดเผยต่อสาธารณชน
ประธาน สนช. ยืนยัน หากมีการยื่นตีความ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้การประกาศใช้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวล่าช้าไปกว่าเดิมประมาณ 2 เดือน เมื่อสมาชิก สนช.เห็นว่าไม่มีปัญหาในเรื่องการตีความ ตนจะส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ไปให้นายกรัฐมนตรีในวันนี้ (19 มี.ค.) เพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป