เพียบพร้อมไปด้วยตัวละครสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงินก้อนโตกว่า 8,000 ล้านบาท จากการกู้ยืมของกลุ่มกฤษดามหานคร เมื่อปี 2546 เพื่อนำไปใช้หนี้ธนาคารกรุงเทพ แต่มีการปรับลดยอดชำระหนี้เหลือ 4,500 ล้านบาท กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้
ทว่า สถานการณ์ตอนนี้ในกระบวนการยุติธรรม เริ่มปรากฎชัดของความเหลื่อมล้ำในความเที่ยงธรรม
จากกรณีคดีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาร่วมกับนางกาญจนาภา และนายวันชัย หงษ์เหิน ซ���่งทั้งสามคนนี้ได้รับเงินจากนายวิชัย ที่เป็นต้นทางของการกู้ยืม และในวันที่ 10 ต.ค.นี้ อัยการคดีพิเศษได้นัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
(พานทองแท้ ชินวัตร)
ส่วนอีกคดีที่มีความเชื่อมโยงกันคือกรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษและ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป นายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรม และผู้เกี่ยวข้องนับร้อยราย ที่ได้รับเงินจากก้อนเดียวกัน
แต่ยังไม่มีสัญญาณเลยว่า คดีของบุคคลรายสำคัญนี้จะถูกเร่งรัดเอาผิด เช่นเดียวกับคดีของนายพานทองแท้ หรือตราชั่งของทนายแผ่นดินได้เอนเอียงไปเสียแล้ว
จึงนำไปสู่การลุกขึ้นทวงถามของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่ออกมาจุดประเด็น กางไทม์ไลน์เรื่องอายุความกรณีการตรวจสอบพล.อ.เปรม เนื่องจากเช็คที่สั่งจ่ายให้ทั้งลงวันที่ 20 ก.ย. 2546 เท่ากับว่าคดีนี้กำลังจะหมดอายุความ 15 ปี ในวันที่ 20 ก.ย. 2561 ส่วนพล.ร.อ.พะจุณณ์ จะหมดอายุความในวันที่ 31 ธ.ค. 2561
(พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ)
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ คดีของนายพานทองแท้นั้น มีการสอบสวนมาแล้วหลายครั้งทั้งสอบตัวผู้ถูกกล่าวหา พยานบุคคล พยานเอกสาร ขณะที่กรณีของพล.อ.เปรม และพล.ร.อ.พะจุณณ์ กลับไม่มีการเชิญบุคคลทั้งสองมาสอบสวนแม้แต่ครั้งเดียว
ชวนให้สงสัยว่ากระบวนการยุติธรรมไทย มีมาตรฐานในการชี้วัดคดีความที่มีเนื้อหาคล้ายกันอย่างไร หรือใช้เพียงดุลยพินิจของความเชื่อในการพิจารณา
ระยะเวลาของคดีพานทองแท้ถูกสอบสวนนานนับ 10 ปี ขณะที่คดีของผู้มากบารมีกลับใช้เวลาเพียงสองเดือน โดยไม่มีแม้แต่การเรียนเชิญมาให้ถ้อยคำ หรือกระทั่งหนังสือชี้แจงกรณีที่ถูกกล่าวหาก็ไม่เคยปรากฎ มีเพียงคำตอบที่ว่า "เกรงว่าจะกระทบกับสำนวนคดี"
แน่นอนว่าหากมองลึกลงไปอีกระดับ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยความต่างขั้วต่างจุดยืน
สำคัญที่สุดคือ คนในตระกูล 'ชินวัตร' กลับถูกเร่งรัดคดีอยู่ฝ่ายเดียว ก็เปรียบเสมือนการเล่น 'เกมการเมือง' ในสนามกระบวนการยุติธรรม
ความถูกต้องความยุติธรรมควรถูกใช้ในบรรทัดฐานเดียวกัน หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ที่พุ่งหอกแหลมทิ่มแทงเล่นงานอีกฝ่าย
ตราบใดที่ความเท่าเทียมของความยุติธรรม ยังคงถูกตั้งคำถามเช่นนี้ สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมควรออกมาแถลงเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้เรื่องราว ความคืบหน้าในการดำเนินคดี
มิใช่ให้เกิดข้อครหากลายเป็นความเงียบ ดังปรากฎอย่างที่ผ่านมา
อ่านเพิ่มเติม