ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' เผยรายงานสถานการณ์ประมงไทยวันนี้ (23 ม.ค.) โดยระบุว่า แม้รัฐบาลไทยจะประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย แต่ยังพบการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นเช่นเดิม

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) เผยแพร่รายงานชื่อว่า “โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย” (Hidden Chains: Forced Labor and Rights Abuses in Thailand’s Fishing Industry ) ความยาว 134 หน้า ซึ่งเป็นการสรุปผลความคืบหน้าการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานบังคับ

รายงานดังกล่าวถูกนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภายุโรป (EU) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าจะดำเนินมาตรการอย่างไรต่ออุตสาหกรรมประมงไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ไทยเคยได้รับ 'ใบเหลือง' จากอียู ซึ่งเป็นคำเตือนว่า ไทยอาจถูกสั่งห้ามส่งออกอาหารทะเลไปสหภาพยุโรป ในข้อหาเกี่ยวข้องกับปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)

HRW ระบุว่ามีข้อบกพร่องเกิดขึ้นมากมายในการดำเนินงานตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลไทย ทั้งยังพบการต่อต้านของอุตสาหกรรมประมงที่มีต่อการปฏิรูปด้วย

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เป็นผู้หนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับ HRW โดยเขาระบุว่า ในสภาพปัจจุบัน สถานการณ์ด้านประมงไทยได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว "ไม่มีการเอาเปรียบแรงงานเหมือนในอดีต ผู้บริโภคในอเมริกา-ยุโรป กินได้เลย อาหารทะเลไทย ตอนนี้ถูกต้องหมดแล้ว เพราะทุกอย่างได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลยุคนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรือถูกต้อง แรงงานถูกต้อง ไม่มีแรงงานบังคับ" นายมงคลกล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานของ HRW พบว่า แม้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมไทยจะพยายามปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงอย่างรอบด้าน แต่จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ พบว่าแรงงานประมงข้ามชาติจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ถูกละเมิดสิทธิโดยนายจ้าง ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานไทย และไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน

“ผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ควรจะมั่นใจได้ว่าอาหารทะเลซึ่งมาจากประเทศไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือแรงงานบังคับ” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ HRW กล่าว “แต่ถึงแม้รัฐบาลไทยได้ประกาศอย่างกว้างขวางว่ามีพันธกิจจะสะสางอุตสาหกรรมประมง ปัญหาต่างๆ ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง”

HRW ทำวิจัยและสัมภาษณ์แรงงานในท่าเทียบเรือประมงขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งในประเทศไทยระหว่างปี 2015-2017 (พ.ศ.2558-2560) รวมทั้งหมด 248 คน เกือบทุกคนมาจากเมียนมาและกัมพูชา และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย เจ้าของเรือ ไต้ก๋ง นักกิจกรรมภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาคมประมง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสหประชาชาติ

CLIP Biz Feed : UNชี้ประมงไทยยังใช้แรงงานทาส

เนื้อหาในรายงานของ HRW ระบุว่า รัฐบาลไทยแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกกฎหมายประมงฉบับเก่าที่บังคับใช้มานาน และออกระเบียบปฏิบัติใหม่เพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรมประมง ทั้งยังขยายผลการบังคับใช้ของกฎหมายแรงงานที่สำคัญ เพื่อให้ครอบคลุมเรื่องค่าจ้างและสภาพการทำงานในเรือประมง ซึ่งในปี 2557 มีการนำเนื้อหาของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาใช้ในกฎหมายของไทย รวมทั้งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล มีการกำหนดให้แรงงานประมงข้ามชาติต้องถือเอกสาร และมีการนับจำนวนลูกเรือขณะที่เรือออกจากฝั่งและกลับเข้าสู่ฝั่ง เพื่อหาทางยุติการปฏิบัติมิชอบที่เลวร้าย รวมทั้งกรณีไต้ก๋งสังหารลูกเรือ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจัดทำระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) กำหนดให้เรือทุกลำต้องเข้ารับการตรวจระหว่างที่ออกและกลับสู่ท่าเทียบเรือ และกำหนดขั้นตอนปฏิบัติเพื่อการตรวจเรือประมงระหว่างอยู่ในทะเลมาตรการบางอย่าง รวมทั้งระบบติดตามตรวจสอบเรือและการจำกัดเวลาออกเรือแต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน ทำให้เกิดการปรับปรุงที่สำคัญต่อแรงงานประมง

อย่างไรก็ดี มาตรการเพื่อแก้ปัญหาแรงงานบังคับ และการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอื่น ๆ มักเน้นที่รูปแบบมากกว่าผลลัพธ์ HRW พบว่า ระบบการตรวจแรงงานเป็นการสร้างภาพเพื่อผู้ชมระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) พบว่า เจ้าหน้าที่พูดคุยกับไต้ก๋งและเจ้าของเรือและตรวจสอบเอกสาร แต่ไม่สัมภาษณ์แรงงานประมงข้ามชาติโดยตรง

ในบางด้าน ถือว่าสถานการณ์เลวร้ายลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น การขึ้นทะเบียน 'บัตรชมพู' ของรัฐบาล ซึ่งเริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2014 เพื่อลดจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารในประเทศไทย ทำให้เกิดการผูกติดสถานะทางกฎหมายของแรงงานประมงกับบางพื้นที่ และกับนายจ้างบางคน ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อน จึงจะเปลี่ยนงานได้ ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การปฏิบัติมิชอบ รวมทั้งกรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับแจ้งรายละเอียด หรือไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานตามกฎหมาย จนกลายเป็นช่องทางให้เจ้าของเรือและไต้ก๋งเรือที่ไร้คุณธรรม ปกปิดการบังคับขืนใจ และการล่อลวง ทำให้ดูเสมือนว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ซึ่งการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิเกิดขึ้นเป็นประจำ และขาดการตรวจสอบ เป็นผลจากความเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งพอใจแค่การตรวจเอกสารที่บริษัทเรือยื่นมาให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น

บ.ญี่ปุ่นเล็งย้ายธุรกิจประมงจากไทยไปอินโดนีเซีย

“การขาดพันธกิจของรัฐบาลไทย ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวของระเบียบ และมาตรการเพื่อป้องกันแรงงานบังคับในภาคประมง”

“ผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ขายปลีกในระดับสากลที่ขายอาหารทะเลจากไทย มีบทบาทสำคัญที่ช่วยดูแลให้ยุติการใช้แรงงานบังคับและการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ” อดัมส์กล่าว

ขณะที่นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาของ HRW ประเทศไทย ระบุว่าการละเมิดสิทธิและการบังคับใช้แรงงาน เกิดขึ้นในแวดวงอุตสาหกรรมประมงไทยมานาน ก่อนจะถูกเปิดโปงโดยสื่อตะวันตกหลายสำนักเมื่อปี 2014 ซึ่งอ้างอิงการค้ามนุษย์และการกระทำที่ทารุณโหดร้ายต่อแรงงานในเรือประมงของไทย ทำให้อียูให้ใบเหลืองกับประเทศไทยในปี 2015 เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของโครงการป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

อียูยังเรียกร้องให้เรือประมงไทยยุติการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิต่อแรงงานที่ไม่มีเอกสาร รวมทั้งบางกรณีที่ีแรงงานประมงต่างด้าวเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และระบุด้วยว่าไทยควรปฏิรูปเพื่อยุติการปฏิบัติมิชอบเหล่านี้ ส่วนโครงการการค้ามนุษย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้กดดันประเทศไทยให้รักษาระดับในบัญชีประเทศที่จับตามองระดับ Tier 2 เอาไว้ ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับต่ำสุดเพียงขั้นเดียว และต้องติดตามกันต่อไปว่าในปีนี้ สหรัฐฯ จะปรับอันดับให้แก่ประเทศไทยในรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIPS Report หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม: