โดยจะมีการ ‘นับแต้ม’ หรือ ‘สะสมแต้ม’ ลงสมุดว่าวิจารณ์กี่ครั้ง หากได้แต้มมากพอหรือทะลุเป้า ก็จะมีหน่วยงานความมั่นคงไปพบเพื่อ ‘เยี่ยม’ หรือ ‘บีบ’ หรือ ‘ปลิว’ ก็มี
มาพร้อมกระแสข่าวการลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าวฯ ของบุคคลที่โพสต์ข้อความดังกล่าว
แน่นอนว่าเรื่องนี้ร้อนไปถึง ‘คสช.’ โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่มีกระแสข่าวพาดพิงถึงว่า สื่อมวลชนชื่อดังได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อีกทั้งการรายงานข่าวของสำนักข่าวดังกล่าวก็วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างไม่ลดละ โดยเฉพาะเรื่องนาฬิกาหรู
"โอ๊ย ไม่มี ก็พูดกันไปเรื่อย" พล.อ.ประวิตร ชี้แจงสั้นๆ
สิ่งสำคัญที่ถูกจับตา คือ ‘การนับแต้ม’ มีจริงหรือไม่ ?
หากมีจะนับอย่างไร ? และมีหลักในการ ‘ติดตาม’ อย่างไร ?
แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยตรงกันว่า ไม่มีการนับแต้ม ไม่มีวัตถุประสงค์ของการนับแต้มเพื่อไปทำสิ่งใด และไม่ใช่หลักปฏิบัติ อาจเป็นเพียงแค่ภาษาพูดของผู้กล่าวถึงเท่านั้น แต่ฝ่ายความมั่นคงจะดูประเด็นที่บุคคลนั้นเผยแพร่ออกมา แล้วทำให้สังคมเข้าใจผิดและเกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะการบิดเบือนหรือไม่รู้จริง
โดยฝ่ายความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นบุคคลที่ออกมาโพสต์ข้อความก็เงียบลงไป พร้อมยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องนาฬิกาหรูแน่นอน
ฝ่ายความมั่นคงตั้งข้อสังเกตอีกว่าการ ‘ลาออก’ จากตำแหน่งของบุคคลที่อ้างถึงการ ‘ตัดแต้ม-สมุดพก’ อาจเท่ากับ ‘การยอมรับ’ การกระทำของตนเองด้วยหรือไม่
ส่วนจะมี ‘แฟ้มข้อมูล-สมุดพก’ หรือไม่นั้น ?
แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานจะเฝ้าดูแต่ละคน ตั้งแต่ในอดีตว่าเป็นมาอย่างไร เคยถูกเชิญตัวหรือเคยมาพบปะพูดคุยหรือไม่ แล้วยังสร้างความสับสนหรือปลุกระดมสังคมหรือไม่ และทำผิดกฎหมายหรือขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่
หากยังกระทำผิดอยู่ก็ต้องปรามหรือเตือน ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ต้องระมัดระวังการบังคับใช้กฎหมาย ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไม่ใช้อำนาจพิเศษที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาบรรยากาศความสงบเรียบร้อยโดยรวม
ซึ่งการมี ‘แฟ้มข้อมูล’ นี้ ก็เพื่อเตรียมข้อมูลในการเข้าไปพูดคุยว่าผู้ถูกกล่าวหาพูดเรื่องใดและช่วงเวลาใดบ้าง เพื่อไม่ให้ถูก ‘ฟ้องร้องกลับ’ และเพื่อใช้เป็น ‘หลักฐาน’ สำคัญในการพูดคุย ไม่ใช่การกล่าวอ้างลอยๆ
(กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง)
ส่วนฝ่ายความมั่นคงมี ‘แบล็คลิสต์’ หรือ ‘บัญชีดำ’ หรือไม่นั้น ?
ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า หากประชาชนติดตามก็จะเห็นไม่ต่างจากฝ่ายความมั่นคงเช่นกัน เพราะเป็นคนที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในสังคม โดยเฉพาะคนที่ออกมาเคลื่อนไหวที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าสนใจอีกคือ ฝ่ายความมั่นคง ย้ำว่าในห้วงเวลานี้ คสช. แทบไม่มีการเรียกบุคคลใดมา ‘ปรับทัศนคติ-เข้าค่าย’ อีก เพื่อสร้าง ‘บรรยากาศ’ ที่นำไปสู่การเลือกตั้งที่แต่ละพรรคเริ่มออกมาเป่าปี่ตีกลองกันแล้ว แต่จะใช้วิธีการ ‘แจ้งเตือน’ หากบุคคลนั้นเข้าข่ายการกระทำผิด โดยจะเตือนผ่านสื่อหรือโทรศัพท์ประสานไปเพื่อ ‘ทำความเข้าใจ’ เท่านั้น
การปรับท่าทีของ ‘คสช.’ ที่นิ่งขึ้นและเงียบขึ้นนี้เอง ก็ทำให้บรรยากาศความ ‘ขึงขัง’ ลดลงไป แต่ยังคงมีกระบวนการเหล่านี้อยู่
ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง ประเมินและเห็นถึง ‘จุดอ่อน’ และ ‘จุดเสี่ยง’ นี้ หากไม่ ‘ผ่อนคลาย’ เปิดพื้นที่ให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์ ก็จะยิ่งทำให้ คสช. ดำรงอยู่ยากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการ ‘เปิดฝากาน้ำร้อน’ เท่านั้น เพราะน้ำยังคง ‘เดือด’ อยู่
ดังนั้นการ ‘ปลดล็อกพรรคการเมือง’ ที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยืนยันว่าจะมีการพูดคุยกับ ‘พรรคเก่า-ใหม่’ เพื่อกำหนดกติกาและหารือเรื่องวันเลือกตั้ง เพราะตามโรดแมปยังเป็นแค่ช่วงเวลา ก.พ.62 เท่านั้น
(แกนนำพรรคเพื่อไทย ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค)
การปลดล็อกพรรคการเมืองนั้น จะพ่วงไปถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนด้วย ดังนั้นหาก ‘ปลดล็อกพรรค’ ทุกอย่างจะกลับมา ‘อิสระ’ มากขึ้น การเข้า ‘กำกับ-ควบคุม’ ของ คสช.ก็จะทำได้ยากขึ้น ดังนั้นการ ‘ปลดล็อกพรรค’ จึงต้องดูกันต่อไปว่าจะมี ‘เงื่อนไข’ หรือไม่
แต่อย่าลืมว่าที่ผ่านมา คสช. ก็พยายามบังคับใช้กฎหมายปกติ ‘ชิมลาง’ มาก่อน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่เป็นอาวุธสำคัญ
แม้จะให้ ‘สิทธิเสรีภาพ’ ผู้ชุมนุม แต่ก็มี ‘กรอบ’ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายด้วย
เพื่อให้มั่นใจว่า ‘เอาอยู่’ แน่นอน !!