นายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน เดินทางไปที่กรุงมอสโกของรัสเซียเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพบกับตัวแทนรัฐบาลรัสเซียและเจรจาเรื่องสหรัฐฯ จะถอนตัวจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ซึ่งนายโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายมิฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต ลงนามร่วมกันในเดือน ธ.ค. 1987 (พ.ศ. 2530)
นิตยสารไทม์ รายงานว่า สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียต เป็นความพยายามของขั้วอำนาจหลายฝ่ายที่ต้องการปรับสภาพการเมืองและความมั่นคงของโลกที่หวาดระแวงกันอย่างหนักในยุคสงครามเย็น โดยสนธิสัญญาอายุ 31 ปีฉบับนี้มีเงื่อนไขให้ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียลดปริมาณการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ลง ส่งผลให้ขีปนาวุธกว่า 2,600 ลูกถูกทำลาย และช่วยให้ภูมิภาคยุโรปมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากขีปนาวุธที่ถูกทำลายมีระยะการยิงไกลถึงหลายประเทศในแถบยุโรป
การประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าว ถูกคัดค้านจากผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ โดยไทม์ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์จากแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งไม่ขอระบุชื่อ ให้เหตุผลว่า ที่่ผ่านมาสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรพยายามอย่างเต็มที่ในการกดดันและโน้มน้าวให้รัสเซียกลับเข้าสู่กรอบปฏิบัติตามสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากที่รัสเซียพัฒนาขีปนาวุธครั้งใหม่เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธนำวิถีเมื่อปี 2002 (พ.ศ. 2545)
ทั้งนี้ รัสเซียเพิ่งประกาศความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธ 'ไร้เทียมทาน' ที่สามารถยิงได้ถึงทุกที่ทั่วโลกเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หากทรัมป์ตอบโต้ด้วยการถอนตัวจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์จริง จะทำให้รัสเซียมีข้ออ้างในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพิ่มเติม ทั้งยังสามารถอ้างได้ว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายละทิ้งสนธิสัญญาดังกล่าวเอง
รัสเซียยืนยันหลักการ 'ไม่โจมตีก่อน'
ประธานาธิบดีทรัมป์ เปิดเผยว่า เขาสนับสนุนการพัฒนาขีปนาวุธของสหรัฐฯ เพิ่มเติม หลังจากการถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าวสำเร็จ ทั้งนี้เพื่อกดดันให้รัสเซียเป็นฝ่ายเข้าหาสหรัฐฯ และยอมให้คำมั่นสัญญาว่าจะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และทรัมป์ยังได้กล่าวพาดพิงถึงจีนว่าจะต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน แต่สปุตนิกนิวส์ สื่อรัสเซีย รายงานอ้างอิงคำกล่าวของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งแถลงว่ารัฐบาลของตนจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เปิดฉากโจมตีผู้ใดก่อน แต่ก็จะไม่หยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน
ขณะที่เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของฮันส์ คริสเตนเซน ผู้อำนวยการโครงการด้านนิวเคลียร์ของสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ระบุว่า การถอนสหรัฐฯ จากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาความเป็นไปได้ ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมา สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ลงมติเสนอให้รัฐบาลถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าว แม้ว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธนิวเคลียร์จะวิพากษ์วิจารณ์ว่าการถอนตัวไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ และจะทำให้ยิ่งต้องเสียเวลาในการเจรจากับรัสเซียเพิ่มขึ้นอีกหลายรอบ
การ์เดียน ระบุอีกว่าเสียงคัดค้านเรื่องการถอนตัวไม่ได้ดังมาจากพรรคฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่มีเจ้าหน้าที่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศหลายรายที่ไม่เห็นด้วย และตามกำหนดการเดิมจะต้องมีการประชุมอภิปรายประเด็นดังกล่าวนี้ในวันจันทร์ที่ 22 ต.ค. 2561 ซึ่งสมาชิกสภาคองเกรสจำนวนหนึ่งย้ำว่าต้องโหวตคัดค้าน แต่ทรัมป์มีคำสั่งให้เลื่อนประชุมออกไปก่อน ขณะที่กำหนดเส้นตายที่ต้องลงมติในเรื่องดังกล่าว คือ วันที่ 15 ม.ค. 2562
ในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีหรือสมาชิกข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับแล้ว นับตั้งแต่การถอนตัวจากความตกลงปารีส ว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน ซึ่งถูกนานาชาติประณามอย่างหนักเมื่อปี 2560
ขณะที่ปี 2561 นี้ ทรัมป์ถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมถึงข้อตกลงด้านนิวเคลียร์กับอิหร่าน ทั้งยังถอนตัวจากคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและองค์การยูเนสโกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ล่าสุดในเดือน ส.ค. ทรัมป์ระบุว่าอาจพิจารณาถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อีกด้วย