ไม่พบผลการค้นหา
ความหวังจะมีค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกับทั่วประเทศของ 'ลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน' ในปี 2561 นี้ ดูจะไม่ราบรื่น เมื่อบอร์ดค่าจ้างส่งสัญญาณดับฝัน เมินทำตามข้อเสนอ

นับตั้งแต่การยกฐานปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 

กระทั่งในยุครัฐบาล คสช. ประกาศปรับโครงสร้างค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีกวันละ 5-10 บาท มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ปรับขึ้น 5 บาท ใน 49 จังหวัด, 8 บาท 13 จังหวัด และ 10 บาท 7 จังหวัด และมี 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ที่ยังมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาทคงเดิม เพราะค่าครองชีพในพื้นที่ยังไม่อยู่ในระดับที่ต้องปรับขึ้น

ขณะที่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรมตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ซึ่งหมายถึงต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ และล่าสุดประเด็นนี้อยู่ระหว่างการหารือของคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) 3 ฝ่าย

ค่าจ้างสวนทางค่าใช้จ่าย

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เล่าย้อนว่า ในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีเงื่อนไขกำหนดไว้ว่า หลังปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวันแล้ว ภายหลัง 2 ปีหลังจากนั้นจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอีก แต่เนื่องจากเกิดการรัฐประหารในปี 2557 ทำให้นับตั้งแต่นั้นมา ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างอีก กระทั่งปี 2560 จึงปรับเพิ่มค่าจ้างเพียง 5-10 บาท ซึ่งสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ

ขณะที่ การลงพื้นที่สำรวจค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานโดย คสรท. พบว่า แรงงาน 1 คน มีค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวอยู่ที่วันละ 712 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องทำงานล่วงเวลา (โอที) เพื่อให้ได้เงินเท่ากับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ได้ส่งผลต่อสุขภาพและอาจกระทบความสัมพันธ์ในครอบครัว

แรงงาน

เสียงที่หายไปของกลุ่มฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หากตัดค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว พบว่า แรงงาน 1 คน ต้องใช้เงินวันละ 360 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงครึ่งต่อครึ่ง แต่ฝั่งนายทุนกับอ้างว่าไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้ตามข้อเสนอ ขณะที่รัฐบาลกลับเกรงว่านายทุนจะย้ายฐานผลิต แต่ไม่ฟังเสียงของกลุ่มแรงงานที่เป็นประชากรเกิน 60 % และเป็นกำลังซื้อหลักในประเทศ เพราะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 


"เมื่อมีข้อเรียกร้องจากขบวนการแรงงาน แต่รัฐกลัวนายทุนย้ายฐานผลิต ทำให้ผู้ใช้แรงงานยังยากจน ขณะที่ นายทุนกลับมีเงินเข้ากระเป๋า"

อีกด้านหนึ่ง ตัวแทนแรงงานยังเสนอว่า รัฐควรออกมาตรการควบคุมเพดานราคาสินค้าบางชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของประชาชน โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ที่มักจะขยับราคาขึ้นเมื่อมีการปรับค่าจ้าง โดยไม่มีการควบคุมจากภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของกลุ่มคนใช้แรงงาน 

รัฐดับฝันคนแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ความหวังและความฝันของคนแรงงานที่จะได้ค่าตอบแทนเท่ากันทั่วประเทศเริ่มส่งสัญญาณดับลง เมื่อนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างเปิดเผยหลังการประชุมบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ว่า จะมีการขึ้นค่าจ้างแรงงานพร้อมกันทั่วประเทศแน่นอน แต่ไม่เท่ากันทุกจังหวัด

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ ยังไม่มีข้อสรุป และเลื่อนออกประชุมอีกครั้งในวันที่ 17 มกราคม 

ด้านนายสมคิด จาตรุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กล่าวว่า ค่าแรงไม่ควร 'ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน' แบบนี้ และต้องมีการปรับหารือผ่านคณะกรรรมการไตรภาคีก่อน เพื่อความรอบคอบจากทุกฝ่าย

เช็คราคา 'Street Food' ย่านสีลม - สุรงศ์ 'ยุคคสช.' เพิ่มสูงกว่า 'รบ.เลือกตั้ง'

เมื่อค่าจ้างแรงงานยังไร้ข้อสรุป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือ ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น

โดยผลสำรวจราคาอาหาร จำนวน 20 ร้านค้า ย่านสีลม-สุรวงศ์ กทม. โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA พบว่าราคาอาหาร อาทิ ข้าวราดแกงและก๋วยเตี๋ยว มีราคาเพิ่มขึ้นจาก 31.80 บาท เป็น 47.10 บาท ในตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2555- 21 พฤศจิกายน 2560 หรือเพิ่มขึ้น 7.9 %

ขณะที่ตลอดเวลา 3 ปี กับ 5 เดือนหลังรัฐประหาร ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 37.4% หรือคิดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 9.5% ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมากพอสมควร หากเทียบกับก่อนรัฐประหารในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555-2557 ที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพียง 10.7% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 5.2% ตามข้อมูลจากการสำรวจราคาอาหารรวมทั้งหมด 12 ครั้ง


aW1hZ2UvMjAxNy0xMS80MDAxMmQxNmUwNTBkNTNmNTNlYTg4NzFkMmY4NGI1ZC5qcGc=.jpg

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร AREA กล่าวว่า เหตุที่เลือกพื้นที่สำรวจเป็นย่านสีลมและสุรวงศ์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวน่าจะมีราคามาตรฐาน เพราะเป็นย่านใจกลางเมือง เป็นแหล่งตัวแทนสำคัญสำหรับคนในพื้นที่กรุงเทพฯและทั้งประเทศโดยรวมได้

เมื่อราคาสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น แต่ค่าจ้างแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสูตรที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ จึงทำให้ "คนแรงงาน" กังวลใจ และการประชุมบอร์ดค่าจ้างนัดที่สอง ในวันพุธที่ 17 มกราคม จึงเป็นอีกครั้งที่จะชี้ชะตาคนแรงงาน ว่าชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร หากข้อเรียกร้องขึ้นค่าจ้างแรงงานขึ้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ ไร้การเหลียวแลจากรัฐบาลปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

เลื่อนเคาะ 'ค่าแรงขั้นต่ำ' 17 ม.ค.นี้







พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog