ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการชี้อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากรถและคนขับที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน เรียกร้องจัดหารถที่ปลอดภัยได้มาตรฐานให้กับโรงเรียน

นายธัชวุฒิ จาดบัณฑิต นักวิชาการแผนงานรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวในเวทีเสวนานโยบายการจัดการมาตรฐานและความปลอดภัยสำหรับรถรับ-ส่ง นักเรียน จัดโดยมูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุแห่งเอเชียว่า จากการรวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุ จากการนำเสนอของสื่อมวลชน พบว่าตลอดปี 2560 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 30 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 7 คน ได้รับบาดเจ็บ 368 ราย สาเหตุมาจากสภาพรถไม่พร้อมใช้งานและผู้ขับไม่มีความพร้อม ซึ่งรถที่นำมาใช้รับส่ง พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งกำหนด มากกว่าร้อยละ 90 เพราะเป็นรถที่ประชาชนเป็นเจ้าของเองมีจิตอาสามารับ-ส่ง เพราะถ้าทำรถให้ถูกต้องจะไม่คุ้มการลงทุน เนื่องจากกิจการนี้ไม่ได้มีกำไรมากนัก

ดังนั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงระบบที่โรงเรียนควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมให้เกิดมาตรฐาน โดยให้ความรู้กับผู้ขับ รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรในการจัดการให้เกิดมาตรฐานทั้งรถและผู้ขับ

เวทีสาธารณะ

นางบุษกร กานต์กำพล อาจารย์โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า เมื่อครั้งสอนที่โรงเรียนบางปลาม้า ได้รับนโยบายการจัดการเรื่องดังกล่าว เพราะต่อยอดมาจากเรื่องแก้ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและการป้องกันยาเสพติด จึงได้สร้างเครือข่ายรถสองแถวที่ใช้รับ-ส่ง นักเรียน ได้รับการสนับสนุน จากโรงเรียนและสำนักงานขนส่งจังหวัด รวมถึงผู้ขับรถ ทำให้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะหากพบว่ารถคันใดมีความไม่ปลอดภัยในการขับรถ จะถูกพิจารณาเลิกจ้างทันที ทำให้คนขับระมัดระวังและคอยตรวจสอบให้นักเรียนมาถึงโรงเรียนและเดินทางกลับถึงบ้านจริงๆ ทำให้ลดปัญหาที่เคยเกิดขึ้นได้ 

ทั้งนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะฝ่ายโรงเรียนทำอย่างเดียวคงไม่ได้ ที่สำคัญอยากให้มีนโยบายจากกระทรวงศึกษาให้ชัดเจนที่จะสนับโรงเรียนให้มีรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัย

นายธนะชาติ ปาลิยะเวทย์ อาจารย์พิเศษภาควิชากฎหมาย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวว่า ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก โดยจัดตั้งระบบขนส่งนักเรียนไปโรงเรียนให้เกิดความปลอดภัย ตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างจนไปถึงโครงการบำรุงรักษาที่เป็นระบบ และมีทุนสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยที่ยั่งยืน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มงวด ซึ่งประเทศไทยภารกิจหนึ่งของการจัดการศึกษา คือ การจัดให้มีรถรับ-ส่งนักเรียนที่มีความปลอดภัย พร้อมกับมีมาตรการคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสนับสนุน

ขอบคุณภาพ unsplash