กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันแรงงานแห่งชาติ ชวนวัยทำงานป้องกันความเครียดที่เกิดจากที่ทำงาน พร้อมแนะ 5 วิธีคลายเครียด เน้นกล้าเผชิญหน้ากับความเครียดจากงานในองค์กรและจากเพื่อนร่วมงาน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน พูดคุย หรือจัดกิจกรรมคลายเครียดในองค์กร
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ" ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพของคนทำงาน ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และในปัจจุบันพบปัญหาความเครียดจากการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ บางรายที่มีความเครียดสูงและเรื้อรัง อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตและโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์กับคนรอบตัวรวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง
สำหรับสาเหตุของความเครียดในที่ทำงาน ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยทางบุคคล องค์กร และสภาพแวดล้อม เช่น ปริมาณงานที่มาก ช่วงระยะเวลาการทำงานนาน ความสัมพันธ์ในองค์กรไม่ดี มีระเบียบมากไป ความคาดหวังในความมั่นคงและความก้าวหน้าในการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศไม่เหมาะสม สภาพการทำงาน/โต๊ะทำงานที่ไม่เหมาะสม มีเสียงรบกวน และแสงสว่างไม่เพียงพอ ก็เป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีการป้องกันความเครียดที่เกิดจากที่ทำงาน ดังนี้ 1.ค้นหาปัญหา โดยการประชุมกลุ่มในที่ทำงาน อาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ก่อน ซึ่งจะทำให้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การทำแบบสอบถามงานที่ก่อให้เกิดความเครียด การสำรวจวันลา/หยุดงาน ความเจ็บป่วยและการเปลี่ยนงาน พร้อมวิเคราะห์สภาพปัญหานั้นๆ 2.วางแผนและแก้ไข เมื่อทราบปัญหาเราก็จะทราบแนวทางแก้ไข พร้อมแจ้งให้พนักงานทราบแนวทางรวมถึงผลที่จะได้รับ และ 3.การประเมินผลหลังจากปฏิบัติตามแผนแล้ว
นอกจากวิธีในการป้องกันความเครียดแล้ว ขอแนะนำ 5 วิธีคลายเครียดในที่ทำงาน โดยเริ่มจากความกล้าเผชิญหน้ากับความเครียดจากงานในองค์กรและจากเพื่อนร่วมงาน ดังนี้ 1.การทำงานเป็นกะหรือลดวันทำงานในสัปดาห์ (ลดวันทำงานใน 1 สัปดาห์ แต่ชั่วโมงการทำงานรวมเท่าเดิม) 2.ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม 3.สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน มีการพูดคุย จัดกิจกรรมต่างๆ ที่สานสัมพันธ์คนในองค์กร 4.ระหว่างครอบครัวกับที่ทำงานต้องมีความสมดุล วางแผนแบ่งเวลา ปรับวันหยุดให้ตรงกัน และ 5.จัดอบรมหรือสัมมนา เพิ่มความรู้และศักยภาพคนทำงาน เปิดโอกาสให้บุคลากรถามข้อมูลสงสัยหรือตอบกลับองค์กรได้
“การทำงานจำเป็นต้องรู้จักตนเองและเพื่อนร่วมงาน รู้จักจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง รู้จักวิธีลดความเครียด คิดก่อนทำ สร้างความสมดุลระหว่างงานกับการผักผ่อน และเปิดเผยตัวเอง เอาใจใส่ต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งการทำงานที่ไม่เครียดส่งผลให้งานเกิดประสิทธิภาพ เกิดผลที่ดีทั้งต่อตนเองและองค์กร มีสุขภาพที่ดีไม่เสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน องค์กรได้งานที่มีคุณภาพ บุคลากรรักองค์กร และครอบครัวมีเวลาให้แก่กัน ส่งผลทางบวกในเชิงเศรษฐกิจด้วย” นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าว
ขอบคุณภาพ : unsplash