ไม่พบผลการค้นหา
ทีมวิศวกรเฟซบุ๊กกำลังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) แก้ไขภาพถ่ายที่มีคนหลับตา โดยใช้วิธีการทำงานของเอไอสองตัวที่ช่วยกันประมวลผลและสร้างภาพดวงตาจำลองให้เหมือนจริงที่สุด เพื่อตกแต่งลงไปบนภาพคนที่หลับตา

ไบรอัน ดอลลันสกี และคริสเตียน แคนทัน แฟร์เรอร์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ของเฟซบุ๊ก เผยแพร่ผลวิจัยการทำงานของเอไอในรูปแบบเครือข่ายประลองกำลัง (Generative Adversarial Network: GAN) เพื่อใช้ในการจดจำและประมวลผลเพื่อสร้างภาพถ่ายให้เหมือนจริงในอนาคต

หากผลการทดสอบบ่งชี้ว่าเอไอทำงานเป็นที่น่าพอใจ เฟซบุ๊กอาจพัฒนาฟังก์ชันหรือโปรแกรมใหม่สำหรับเติมดวงตาหรือแก้ไขจุดต่างๆ ลงบนภาพถ่ายได้เองโดยอัตโนมัติ 

เว็บไซต์ CNet รายงานว่า ทุกครั้งที่มีการถ่ายภาพหมู่ จะต้องมีใครสักคนที่กะพริบหรือหลับตาในช่วงนั้นพอดี ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจนัก แต่การพัฒนาเอไอให้ทำงานแบบ GAN ซึ่งเอไอตัวหนึ่งทำหน้าที่สร้างภาพหรือชุดข้อมูลขึ้นมาเพื่อให้เอไออีกตัวหนึ่งตรวจจับ จะช่วยให้เอไอมีพัฒนาการในการสร้างข้อมูลที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเหมือนกับความเป็นจริงมากที่สุด ส่วนแหล่งข้อมูลที่จะใช้ในการพัฒนาระบบการทำงานของเอไอนี้ก็คือภาพถ่ายในสื่อออนไลน์ที่มีผู้เผยแพร่สู่สาธารณะ

เฟซบุ๊ก-ลืมตา-เอไอ

(เฟซบุ๊กกำลังพัฒนาให้ AI ประมวลผลจากภาพถ่ายและเติมดวงตาให้คนในภาพถ่ายที่หลับตาได้/ Facebook)

ในแต่ละวัน ผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลกเผยแพร่ภาพถ่ายของตนเองและเพื่อนฝูงผ่านเฟซบุ๊กจำนวนกว่า 350 ล้านรูป และที่ผ่านมามีการใช้ระบบจดจำและจำแนกใบหน้าจากภาพถ่ายเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การแท็กภาพต่างๆ ให้ตรงกับผู้ใช้เฟซบุ๊กได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทีมวิศวกรของเฟซบุ๊กคาดหวังว่า การพัฒนาระบบการทำงานของเอไอครั้งนี้จะช่วยแก้ไขจุดบกพร่องในภาพถ่ายได้ 

ส่วนเว็บไซต์ The Verge รายงานว่า การพัฒนาเอไอช่วยตกแต่งภาพถ่ายให้เหมือนจริงที่สุดเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับตัดต่อหรือตกแต่งภาพอย่าง Adobe Photoshop หรือโปรแกรมอื่นๆ เพราะเอไอของเฟซบุ๊กถูกออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานที่ง่ายที่สุด ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคนิคอะไรมาก ก็สามารถแก้ไขภาพถ่ายได้เอง

อย่างไรก็ตาม เดอะเวิร์จเตือนว่าเอไอดังกล่าวอาจทำให้การตรวจสอบข้อมูลในโลกออนไลน์เป็นไปได้ยากขึ้น เพราะภาพตัดต่อหรือภาพที่ถูกดัดแปลงอาจจะแนบเนียนมากจนแยกแยะไม่ออก ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: