ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านกฎหมายระบุ คสช.พยายามบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเพราะต้องการปรามไม่ให้ขยายวงกว้างจนยากต่อการควบคุม หวั่นการเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรม

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ ออนไลน์ ภายหลังงานเสวนาตุลาการธิปไตยจัดโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า บรรยากาศทางการเมืองตอนนี้ยังไม่พร้อมที่ไปสู่การเลือกตั้ง เพราะฝ่ายที่มีอำนาจพยายามจะยื้อไว้ แม้ว่าขณะนี้หลายฝ่ายทั้งประชาชนและนักการเมืองมีความพร้อม แต่ดูเหมือนกลุ่มที่ไม่พร้อมคือกลุ่มเดียวคือกลุ่มผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะคสช.หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ตามต่างพยายามจะดึงการเลือกตั้งออกไป ในขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ในสังคมหลังจากได้เรียนรู้มาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วส่วนใหญ่น่าจะคิดว่าควรต้องมีการเลือกตั้ง

“ ถามว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกหรือเปล่า การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้ประเทศไทยดีชั่วข้ามคืน แต่การเลือกตั้งจะเป็นประตูไปสู่โอกาสที่จะทำให้เราขยับไปทำอะไรได้มากขึ้น แค่มีการเลือกตั้งไม่ทำให้ประเทศไทยดีขึ้น แสงทองผ่องอำไพในชั่วข้ามวัน แต่การเลือกตั้งจะนำพาสังคมเรา���ลับมาสู่บรรยากาศที่มีการถกเถียงกันได้ แสดงความคิดเห็นต่างกันได้ โต้แย้งกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แล้วผมคิดว่านี่ต่างหากจะช่วยให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้าได้” รศ.สมชาย

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล

สำหรับความพยายามของ คสช.ในการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ชุนนุมต่าง ๆ รศ.สมชายมองว่า เมื่อคสช.จะพ้นไปจากตำแหน่งก็ไม่แปลกที่พยายามกำกับการเมืองให้ได้อยู่ในมือ อย่างน้อย 5 -10 ปีจึงพยายามยื้อเอาไว้ ซึ่งหากยื้อนานก็จะยุ่งยากมากขึ้น

ขณะที่ ธีรวัฒน์ ขวัญใจ มองว่า ส่วนตัวค่อนข้างกังวล เนื่องจากบ้านเมืองที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง ต้องเป็นบ้านเมืองที่ทำให้คนมั่นใจในการแสดงออกทางการเมืองในการแสดงออกความต้องการว่าต้องการอะไรและใครที่จะเสนอตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้งก็จะพยายามรับฟังความต้องการเหล่านั้นและนำมาคิดเป็นนโยบายกลับไปสู่ประชาชน แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างสะดุดและหยุดหมดเลย เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 หรือ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

“ผมคิดว่า อยู่ ๆ วันหนึ่งจะเลือกตั้ง แต่เลือกตั้งบนฐานที่เรากลัวความขัดแย้ง เลือกตั้งบนฐานที่เซนเซอร์ไม่ให้พูดเรื่องนั้น ไม่ให้พูดเรื่องนี้ ผมคิดว่ามันเป็นการเลือกตั้งที่เป็นไปได้แค่เลือกตั้งพิธีกรรม แล้วมันไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมไทยได้ มิหนำซ้ำมันอาจจะนำพาเราย้อนกลับไปสู่จุดที่แย่ยิ่งไปกว่าที่จะยึดอำนาจด้วยซ้ำ” ธีรวัฒน์กล่าว

ธีรวัฒน์ ขวัญใจ

ธีรวัฒน์ยังกล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ว่า ปรากฎการณ์การบังคับใช้กฎหมายในช่วงนี้มีความพิเศษและไม่ปกติอยู่ ถ้าดูช่วงเวลาของการนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ไปใช้ หลังจากหยุดการบังคับใช้ไปพักหนึ่งตั้งแต่กรณีวัดธรรมกายซึ่งเป็นกรณีพิเศษ แต่หลังจากนั้นจะเห็นว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา รัฐบาลมักจะใช้พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะบังคับใช้แทน อย่างเช่น กรณีการชุมนุมของผู้ประท้วงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แม้ว่ามีการอ้างอำนาจตามมาตรา 44 แต่สุดท้ายก็ไปลงที่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอาจเกิดจากภาวะบางอย่างมาเป็นตัวกระตุ้น อย่างเช่น ความคาดหวังในการเลือกตั้ง ซึ่งคิดว่าตอนนี้ทุกฝ่ายพยายามปรับตัวเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ในฝ่ายภาคประชาชนเองก็อาจจะคิดว่าเมื่อ คสช.กำลังเปิดหรือผ่อนคลายมากขึ้นก็น่าจะใช้สิทธิชุมนุมต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการยกประเด็นที่เป็นความเดือดร้อนอะไรต่าง ๆ ของประชาชนเพิ่มขึ้นมา

“ผมคิดว่ามันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ คสช.กังวลกับการใช้เสรีภาพในช่วงนี้เป็นพิเศษ ไม่ว่าปัจจัยเรื่อง รองนายกฯ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก อาจเป็นกระบวนการปรามอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากการนำคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 มาใช้ในหลายกรณีในช่วงที่เกิดขึ้นน่าจะมีผลในลักษณะของการปรามมากกว่า เพื่อไม่ให้กิจกรรมทำนองนี้ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้นจนยากต่อการควบคุม”ธีรวัฒน์

นักวิชาการด้านกฎหมายกล่าวต่ออีกว่า ในแง่ของการควบคุมอำนาจ คสช.มีเสถียรภาพอย่างมั่นคง คสช.สามารถที่จะควบคุมกลไกของรัฐต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่ว่าโลกสมัยใหม่ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคือ อารมณ์ความรู้สึกของประชาชน

“ผมคิดว่าในช่วงนี้หลาย ๆ ฝ่ายเอง แม้กระทั่งฝ่ายที่สนับสนุน คสช.มาก่อน ก็เริ่มที่จะระอาหรือเบื่อหน่ายกับปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในรัฐบาลและคสช. หลายๆ ฝ่ายเริ่มจับตามองของการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น ตัวคสช.เองก็ต้องมีปฏิกิริยาบางอย่างเพื่อยืนยันว่า เขายังเป็นรัฏฐาธิปัตย์อยู่ เขายังมีอำนาจเต็มอยู่ทางกฎหมาย เพราะฉะนั้นการใช้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 คือการบริหารอำนาจให้เห็นอีกวาระหนึ่งว่า เขายังสามารถบริหารได้อย่างเต็มที่ ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่มีอยู่”

สำหรับการแสดงความคิดทางเมืองภายใต้บรรยากาศในปัจจุบัน ตนมองว่าไม่สามารถหาหลักเกณฑ์ใด ๆ ได้เลย เท่าที่ดูตอนนี้ คสช.ค่อนข้างจะเปิดมากขึ้นในเรื่องของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังเข้มงวดในการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมที่มีเป้าหมายโดยตรงก็คือ คสช.เอง ในขณะที่เป็นการชุมนุมในลักษณะที่มีเป้าหมายอย่างอื่น อย่างเช่น ในเรื่องฐานทรัพยากร ก็จะเห็นได้ชัดว่า แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างเคร่งครัด แต่ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยังไม่ไปถึง คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เพราะฉะนั้นจะเห็นเทรนด์อย่างหนึ่งว่า คสช.พยายามแยกเรื่องของการเมืองออกจากเรื่องของชุมนุมในกรณีอื่น ๆ ถ้าเป็นการชุมนุมทางการเมืองในช่วงนี้ มีความเป็นไปได้มากว่าจะถูกบังคับตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 แต่ถ้าเป็นการชุมนุนเรื่องอื่น คสช.จะบอกว่านี้ไม่ใช่เรื่องของการเมือง อย่างมากจะบอกว่าเป็นเรื่องของกฎหมายอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องของ พ.ร.บ.ชุมนุม ฯ หรือ พ.ร.บ.ความสะอาด

“ผมคิดว่า คสช.พยายามส่งสัญญาณว่า ฉันมีอำนาจเต็มที่อยู่ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งดีใจกับบรรยากาศเลือกตั้งที่น่าจะใกล้เข้ามา แม้จะเลื่อนออกไปอีก 2 – 3 เดือน แต่ว่า ณ วันนี้ฉันยังมีอำนาจและพร้อมที่จะใช้อำนาจกับใครก็ตามที่ลุกขึ้นท้าทายอำนาจของฉัน”ธีรวัฒน์กล่าว