วันที่ 11 ก.ค. ที่อาคารรัฐสภา สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา รับหนังสือจาก จินตนา ศรีสารคาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ พร้อมด้วยตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อขอความคุ้มครองนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเป็นการเร่งด่วน และช่วยเหลือเด็กในสภาวะเสี่ยง คือ ธนลภย์ ผลัญชัย หรือ 'หยก'
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ ธนลภย์ ได้รับแจ้งว่าไม่มีสภานภาพการเป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ทำให้มีกลุ่มบุคคลมาก่อความไม่สงบหน้าโรงเรียน ระหว่างวันที่ 14 - 19 มิ.ย. 2566 จึงมีความหวาดกลัวถึงความไม่ปลอดภัยในการมาโรงเรียนของนักเรียน 4,073 คน
อย่างไรก็ตาม กระบวนการของการมอบตัวที่ยังไม่แล้วเสร็จ ทางโรงเรียนเผยว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 สุภาพร ผลัญชัย (มารดา) และคุณน้า ที่เป็นผู้ปกครองของ หยก ได้มาบันทึกขอผ่อนผันการมอบตัวของ หยก เนื่องจากมีข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สน.สำราญราษฎร์
จากนั้น วันที่ 19 พ.ค. 2566 หยก ได้เดินทางมาพร้อมกลุ่ม 'ทะลุวัง' ที่อ้างตนเป็นผู้ปกครองเพื่อมอบตัว โรงเรียนจึงให้เข้าเรียนเพื่อรักษาสิทธิไว้ก่อน และได้แจ้งให้นำผู้ปกครองมามอบตัวภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการนำข้อมูลนักเรียนเข้าสู่ระบบ ในช่วงเวลาดังกล่าวโรงเรียนได้พยายามติดต่อผู้ปกครองจนสุดความสามารถ แต่ผู้ปกครองไม่มาดำเนินการ จึงทำให้ไม่มีฐานข้อมูลนักเรียนของ หยก ในระบบ
ทั้งนี้ โรงเรียนได้พยายามติดตามผู้ปกครองนักเรียนคือมารดาถึง 7 ครั้ง ที่บ้านซอยพัฒนาการ 65 แต่มารดาไม่ออกมาพบ จึงได้ไปพบบิดาที่ บ้านหัวหนอง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด แต่บิดาบอกปัดไม่รับผิดชอบ และขับไล่ไม่ให้ทางโรงเรียนกลับมาอีก
ผู้อำนวยการโรงเรียนยืนยันว่า หาก เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ 'บุ้ง ทะลุวัง' ซึ่งอ้างตัวเป็นผู้ปกครองของ หยก นั้น ได้รับคำสั่งศาลยืนยันว่าเป็นผู้ปกครองตามกฎหมาย ก็สามารถสมัครเข้าเรียนในปีการศึกษาหน้าได้ แต่ต้องผ่านการสอบเข้าใหม่อีกครั้ง เพราะไม่มีสถานภาพนักเรียนในตอนนี้แล้ว และไม่มีสิทธิสอบในปีการศึกษานี้อีก แต่หาก หยก ได้สมัครเข้าเรียนอีกครั้งแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียนในการแต่งกายและทรงผม
"เราไม่สามารถปฏิเสธกฎระเบียบได้ ทุกคนอยู่ใต้กฎระเบียบเดียวกัน นักเรียนไม่ได้มาแค่เรียนหนังสือ แต่ต้องเรียนรู้ถึงวิธีการอยู่ในสังคม แต่โรงเรียนไม่ปฏิเสธที่จะรับ หยก เข้าเรียน แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ผู้ปกครองจึงสำคัญ ที่จะต้องเข้ามารับรู้และพัฒนาเด็กไปพร้อมกัน" ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าว
จินตนา ยังเผยว่า เมื่อทางโรงเรียนพยายามชี้แจงเรื่องกฎระเบียบกับ หยก ก็จะได้คำตอบอยู่ไม่กี่แบบคือ "สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย" และ "กฎระเบียบของโรงเรียนกับรัฐธรรมนูญอะไรใหญ่กว่ากัน" และ หยก มักมีพฤติกรรมไม่รับฟังครูหรือผู้ปกครอง
ทางตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองฯ ยืนยันว่า ทุกฝ่ายไม่ได้รังเกียจ หยก แต่ต้องยอมรับว่า หยก ไม่ได้มีสถานะนักเรียนแล้ว และเป็นห่วงในอนาคตของ หยก ว่าจะเป็นอย่างไร หากยังอยู่กับกลุ่มคนที่ชี้นำความคิด