ไม่พบผลการค้นหา
‘หมอวาโย’ วินิจฉัย ‘ทักษิณ’ มีอาการ ‘เส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย-กระดูกคอทับเส้นประสาท’ เปิดหลักทางการแพทย์พักฟื้นเต็มที่ 2 อาทิตย์ ระบุโซ่แห่งความยุติธรรมเกิดสนิม พร้อมตั้งคำถาม ‘รพ.ราชทัณฑ์’ มีศักยภาพไม่เพียงพอหรือไม่ ขอรัฐมนตรี ‘ยุติธรรม-สาธารณสุข’ ตอบให้ชัด

วานนนี้ (3 เม.ย.) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตาม ม.152 ของรัฐธรรมนูญ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายถึงการเลือกปฏิบัติในการรักษานอกเรือนจำว่า หากเราตั้งสมมติฐานว่า ผู้ป่วยที่ปรากฏในตัวอย่างต่อไปนี้มีอาการป่วยจริง และแพทย์ที่ทำการรักษาก็ประกอบวิชาชีพตามมาตรฐาน และให้ความเห็นตามหลักวิชาการจริง แล้วทำไมโซ่ตรวนแห่งความเชื่อมั่นมันถึงเป็นสนิม และประชาชนบางส่วนไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม 

นพ.วาโย กล่าวถึงกระบวนการรักษาตัวนอกเรือนจำว่า หากมีนักโทษในเรือนจำป่วย ผู้คุมต้องไปแจ้งกับ ผบ.เรือนจำ ให้มีหน้าที่ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในเรือนจำ และหากเจอแพทย์ในเรือนจำแล้ว การจะส่งตัวมารักษานอกเรือนจำได้นั้น ต้องมีเงื่อนไขคือ รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือโรงพยาบาลในเรือนจำนั้นไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรักษาอาการ เช่น ไม่มีเครื่องมือเฉพาะทาง หรือแพทย์ต้องให้ความเห็น และโดยหลักการแล้วต้องไปแบบเช้าเย็นกลับ หรือผู้ป่วยนอก (OPD) แต่ถ้าแพทย์ให้ความเห็นว่า คนไข้ยังกลับไม่ได้จำเป็นต้องแอดมิท แพทย์ต้องเสนอความเห็นให้ผู้คุมเพื่อนำความเห็นนั้นส่งกลับมาที่ ผบ.เรือนจำ จึงจะอนุญาตให้นักโทษแอดมิทนอกเรือนจำได้ 

นพ.วาโย ยังกล่าวอีกว่า หากพิจารณาจากกรณีตัวอย่าง นักโทษอายุ 74 ปี มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตต่ำ แน่นหน้าอก อดีตเคยมีประวัติติดโควิด-19 ถึง 3 ครั้ง ทำให้การทำงานของปอดไม่ปกติ และความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสเลือดต่ำ แพทย์วินิจฉัยแล้วว่า เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตจึงจำเป็นต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งการวินิจฉัยแยกโรคเหล่านี้นั้นต้องตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น เอ็กซ์เรย์ช่องอก, ทำ CT ร่างกาย, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ ตรวจนับเม็ดเลือด ฯลฯ แต่ไม่แน่ใจว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีเครื่องมือเหล่านี้ และมีศักยภาพแค่ไหนในการรักษาอาการแน่นหน้าอก 

นพ.วาโย ยังกล่าวอีกว่า หากดูข้อมูลทั่วไปของโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะพบว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีขนาดเตียง 500 เตียง ซึ่งทั้งประเทศไทยมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เกิน 500 เตียงเพียงแค่ 14-15 โรงเท่านั้น และโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีทั้งแผนกจิตเวช กายภาพบำบัด อายุรกรรม ห้องผ่าตัดใหญ่หลายห้อง ฯลฯ เรียกว่า ครบ และเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขาดเพียงวอร์ดเด็ก เพราะในเรือนจำไม่มีเด็กเท่านั้นเอง อีกทั้งสำนักงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังกำหนดให้โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของโรงพยาบาลราชทัณฑ์อื่นๆ อีก 7 แห่ง 

นพ.วาโย ยังกล่าวถึงการแถลงการณ์การผ่าตัดครั้งที่ 2 ในระยะเวลาพักรักษาตัวครบ 60 วัน ระหว่างวันที่ 23 ส.ค. 2566 ถึง 23 ต.ค. 2566 อีกว่า การผ่าตัดครั้งที่ 2 นั้นมีการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการคือ ได้รับการผ่าตัดออร์โธปีดิกส์ และวันถัดไปมีผู้ใกล้ชิดมาระบุว่า นักโทษคนดังกล่าวมีอาการเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย และกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท ซึ่งทั้งสองโรคนี้เกี่ยวข้องกับอาการยกแขนไม่ขึ้นทั้งคู่ เส้นเอ็นเปื่อยยุ่ยเกี่ยวกับความเสื่อมของอายุเยอะ และกระดูกคอที่กดทับเส้นประสาทต้องเข้ารับการผ่าตัดด้วยเช่นกัน แต่ประเด็นของการผ่าตัดนั้น ในหลักทางการแพทย์ต้องมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคือ ข้อบ่งชี้สมบูรณ์ และเคสทางเลือก คนไข้ที่เป็นผู้ต้องขังมีสิทธิ์ได้รับการผ่าตัดแบบใด และใช้หลักเกณฑ์อะไร หากทำได้จริง จะได้ช่วยกันสื่อสารออกไปเพื่อประโยชน์ของผู้ต้องขังคนอื่นๆ 

นพ.วาโย กล่าวอีกว่า ส่วนระยะเวลาที่ต้องนอนโรงพยาบาลหลังการผ่าตัดนั้น อาการเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ยไม่เกิน 3 วัน และการผ่าตัดบริเวณคอไม่เกิน 7 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าหากมีภาวะแทรกซ้อนจะใช้เวลาเต็มที่ไม่เกิน 2 อาทิตย์ แต่กรณีดังกล่าวนี้เหตุใดถึงนอนต่อถึง 4 เดือน เพราะฉะนั้นแพทย์ต้องพิจารณาว่า ภาวะแทรกซ้อนคืออะไร 

ส่วนกรณีห้องพักที่มีคนถกเถียงกันมากมายในขณะนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบข้อซักถามของวุฒิสภา (สว.) ว่า ห้องที่พักนั้นเป็นห้องควบคุมพิเศษ ไม่ใช่ห้องพักพิเศษ แต่ตามกฎหมาย ห้องควบคุมพิเศษต้องเป็นห้องที่สถานพยาบาลจัดให้ เช่น ห้องโควิด-19 ห้องวัณโรค เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยแพร่เชื้อไปข้างนอก แต่การที่ระบุว่า ห้องควบคุมพิเศษนั้น เหตุผลคือ กรณีคาร์บอม ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่โรงพยาบาลทำแบบนั้น สรุปแล้ว ห้องควบคุมพิเศษที่โรงพยาบาลจัดเอาไว้เพื่ออะไร เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ 

นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ม.52 ระบุไว้ว่า นักโทษคนใดมีความประพฤติดี หรือทำความชอบกับทางราชการเป็นพิเศษแล้วนั้น สามารถได้รับสิทธิการพักโทษ ดังนั้นในกรณีการทำความชอบแก่ราชการนั้นต้องเป็นระหว่างต้องขัง หรือสามารถขุดย้อนกลับไปก่อนที่จะเข้ามาต้องขังได้ และย้อนไปเท่าไหร่ 

ขณะที่ประกาศกรมราชทัณฑ์ได้กำหนดเงื่อนไขการพักโทษสำหรับผู้สูงอายุไว้ว่า ต้องอายุเกิน 70 ปี และมีเกณฑ์คะแนนในการวัดความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ซึ่งต้องได้ไม่เกิน 11 เช่น ไม่สามารถอาบน้ำได้ด้วยตนเอง กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ และไม่สามารถกินข้าวด้วยตัวเอง ฯลฯ แต่นักโทษคนดังกล่าวได้ 9 คะแนน อยู่ในกลุ่มที่ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง และต้องการคนช่วยเหลือบางส่วน ซึ่งผู้สูงอายุนั้นต้องมีโรคแทรกซ้อน มีกลุ่มอาการของผู้สูงอายุซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนไหว และการเข้าสังคม โดยมีแบบฟอร์มลงชื่อการประเมิน 180 วัน และต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 180 วัน ซึ่งมีผู้ประเมิน 3 คนคือ พยาบาลวิชาชีพ ผอ.ส่วน และผบ.โรงพยาบาล 

นพ.วาโย ยังกล่าวอีกว่า การผ่าไหล่ใส่แขนไม่ใส่คอ การผ่าคออาจใส่คอไม่ใส่แขน การที่นักโทษคนดังกล่าวผ่าแขนต้องมีการใส่ Shoulder Abduction Support ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใส่ไม่เกิน 2 เดือน เพราะหากเกินกว่านั้นจะทำให้ไหล่ติด และคนไข้ต้องผ่าตัดใหม่ แต่กรณีที่มีการผ่าตัดเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2566 นั้นเกินกว่า 2 เดือนแล้ว รวมถึงต้องมีลูกบอลสีเหลืองเพื่อให้คนไข้ได้บีบเป็นการกายภาพด้วย แต่เหตุใดในภาพที่ปรากฎแก่สาธารณะถึงไม่มี 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่ นพ.วาโย ทำการอภิปราย ได้มี ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประท้วงอยู่เป็นระยะว่า ประธานสภาฯ ควรควบคุมการประชุมให้สมาชิกอภิปรายโดยทำตาม ม.152 และสถานที่แห่งนี้คือสภาฯ ไม่ใช่โรงพยาบาล เหตุใดถึงยกมาแค่เคสเดียว และลองให้ปิดชื่อในใจ เพื่อจะได้ทราบว่า บางอย่างต้องให้ความเป็นธรรม และอคติในใจจะได้หายไป รวมถึงต้องนึกถึงจรรยาบรรณในฐานะที่เป็นแพทย์เหมือนกัน ขอให้ตั้งคำถามโดยสรุป ไม่วกเวียน และซ้ำซาก