ไม่พบผลการค้นหา
‘วิโรจน์’ ดักรัฐบาล ‘เศรษฐา’ อย่าเคลมนโยบายกองทัพยุค ‘ประยุทธ์’ ชี้ไม่ใช่ ‘คิดใหม่-ทำเป็น’ แต่ ‘ทำแล้ว-ทำอยู่-ทำต่อ’ ลั่นศักยภาพกองทัพเรือต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนถามหางบฯ ซื้อเรือฟริเกต เสริมความมั่นคงทางทะเล

วันที่ 4 เม.ย. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ ม.152 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ซึ่ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยให้คำสัญญาไว้ว่า จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารให้เป็นรูปแบบสมัครใจ และจะลดจำนวนนายพลลง รวมถึงการลดการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ และจะเอาพื้นที่ที่เกินจำเป็นของกองทัพมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์

วิโรจน์ กล่าวอีกว่า เมื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแล้วพบว่า เป็นแค่การสมยอมกับกองทัพ เพื่อปรุงแต่งตบตาประชาชน และนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ทำแล้ว ทำอยู่ มาทำต่อ และใช้คำโฆษณาให้ประชาชนหลงเชื่อว่า นี่คือการปฏิรูปกองทัพแล้ว

นอกจากนี้ แม้รัฐบาลจะอ้างถึงยอดสมัครทหารออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อนำมารวมกับยอดสมัครทหารแบบวอล์คอินแล้ว กลับมีแนวโน้มที่ลดลง ส่วนการลดจำนวนความต้องการกำลังพลนั้นก็ไม่มีอะไรใหม่ แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำอยู่แล้วคือ การบรรจุกำลังพล 70% ของความต้องการจริง การลดกำลังพลแบบต้วมเตี้ยมเช่นนี้เป็นเพียงการซื้อเวลาการปฏิรูปกองทัพออกไปเท่านั้น

ส่วนข้อสังเกตในเรื่องการลดจำนวนนายพล วิโรจน์ มองว่า ความจริงแล้วนั้น โรงเรียนเตรียมทหารรับนักเรียนลดลงอยู่แล้ว 150 คนต่อรุ่น แต่รัฐบาลไม่ควรฉกฉวยจำนวนดังกล่าวมาเคลมเป็นผลงาน เช่นเดียวกับโครงการ Early Retrie ที่ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2563 จึงตั้งคำถามว่า หากโครงการนี้สำเร็จ งบประมาณในส่วนของกองทัพจะดลงลงหรือไม่ และเรื่องที่ดินราชพัสดุจำนวน 12 ล้านไร่ ถูกครอบครองโดยกองทัพถึง 6.25 ล้านไร่ และมีที่ดินรกร้าง หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ และที่ดินบางส่วนนำไปใช้สวัสดิการธุรกิจ ทั้งสนามกอล์ฟ สถานพักตากอากาศ สนามมวย โดยไม่มีความโปร่งใส และกิจการของกองทัพมีกำไรเพียงน้อยนิด ขณะที่ภาคการเกษตรของชาติกำลังขาดที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเศรษฐานั้นตั้งโครงการนำที่ดินของกองทัพมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ โดยตั้งชื่อว่า ‘โครงการรัฐเอื้อราษฎร์’ หรือ ‘หนองวัวซอโมเดล’ แต่แท้จริงนั้นไม่ใช่โครงการใหม่ แต่ทำมาตั้งแต่ 2547 แทนที่รัฐบาลนี้จะเร่งพิสูจน์สิทธิ์ให้ประชาชนยืนยันว่า ครอบครองที่ดินมาก่อนจะมีกฎหมายต่างๆ ด้วยซ้ำ แต่กลับเอาโครงการเก่ามาปัดฝุ่น แล้วเปลี่ยนชื่อ และบีบให้ประชาชนมาเช่าที่ดิน

วิโรจน์ ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลควรพอได้แล้วกับการนำภาษีของประชาชนไปแลกซื้ออาวุธแบบดื้อๆ แต่รัฐบาลควรมีข้อแลกเปลี่ยน หรือชดเชยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจปากท้องให้กับประชาชน แต่เรือฟริเกตวงเงิน 1.7 หมื่นล้าน ที่กองทัพเรือขอจัดซื้อแต่ถูกตัดงบทิ้ง ทั้งที่เรือฟริเกตมีความจำเป็นในการคุ้มครองความมั่นคงทางทะเลมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อบ้านตอนนี้ กองทัพเรือของไทยมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าที่ควร

“การตัดงบประมาณเรือฟริเกตลำนี้ เป็นการตัดโอกาสการพัฒนาของประเทศ ตัดโอกาสด้านวิศวรกรรมการต่อเรือของคนไทย และกว่างบประมาณก้อนนี้จะเข้ามาใหม่ได้ ผมติดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ก็ยังไม่พบความเป็นไปได้ว่า งบประมาณปี 2568 อาจจะยังไม่ทัน เข้าอีกทีปี 2569 เพราะงบประมาณรายการก่อนหน้านี้ก่อหนี้ผูกพันวงเงินเกินตั้งแต่พันล้านขึ้นไป จึงต้องผ่านหลายขั้นตอน” วิโรจน์ กล่าว