จากการพิจารณารายละเอียดของ พ.ร.บ.งบประมาณที่คณะรัฐมนตรีจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 31 พ.ค. ถึง 2 มิ.ย.นี้ พรรคเสรีรวมไทยมีความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีข้อบกพร่องหลายประการ คือ
ประการแรก เป็นงบประมาณที่มีการจัดสรรเพื่องบลงทุนต่องบประจำที่ต่ำมาก คือ ในงบ 3.185 ล้านล้านบาท มีงบลงทุนเพียง 695,077.4 ล้านบาท หรือ 20.82% ของงบประมาณทั้งหมด โดยงบส่วนใหญ่เป็นรายการประจำที่ไม่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ
ประการที่สอง การจัดสรรงบตามยุทธศาสตร์ เป็นการให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในสัดส่วนที่น้อยเพียง 12.4% ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่จะผลักดันในประเทศสามารถแข่งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้
ประการที่สาม เป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล ต้องกู้เงินมาไว้เป็นส่วนหนึ่งของรายรับถึง 695,000 ล้านบาท ทำให้ภาวะหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น เป็นภาระหนี้ต่อคนรุ่นหลังไม่รู้จบสิ้น
ประการที่สี่ เป็นการตั้งงบประมาณที่ฉิวเฉียดกับการขัด พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของประเทศ โดยรัฐต้องมีงบลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งตั้งไว้ 21.82 เกินมาเพียงร้อยละ 1.82 และต้องมีรายการเงินกู้ไม่มากกว่า งบลงทุน ซึ่งรัฐบาลตั้งรายการเงินกู้ไว้ที่ 695,000 ล้านบาท ขณะที่งบลงทุนเกินมาเพียง 77.4 ล้านบาท
ในการนี้ จะมีรองหัวหน้าพรรคเป็นผู้อภิปราย จำนวน 3 คนในสภา และพรรคมีมติไม่รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ทั้งฉบับ ร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ
ด้าน องอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณว่า แบ่งออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ได้แก่
1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
2. ยุทธศาสตร์ด้านสร้างความสามารถในการแข่งขัน
3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
เมื่อพิจารณาดูแล้วพบว่า ยุทธศาสตร์ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดคือ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 759,861.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.9 ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐคำนึงถึงการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเน้นไปที่แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 304,356.1 ล้านบาท รองลงมาคือ แผนงานยุทธศาสตร์สร้างหลักประกันทางสังคม จำนวน 269,465.2 ล้านบาท และแผนงานยุทธศาสตร์สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 81,269.0 ล้านบาท
ในขณะที่แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์นี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 1,906.4 ล้านบาท รวมถึงแผนงานบูรณาการพัฒนา และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้งบประมาณ จำนวน 1,474.3 ล้านบาท ส่วนที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุดในยุทธศาสตร์นี้คือ แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ได้รับเพียง 448.7 ล้านบาท
เมื่อดูจากตัวเลขการจัดสรรงบประมาณ แสดงให้เห็นว่าภาครัฐยังไม่เห็นความสำคัญที่จะดูแลสังคมสูงวัยมากเท่าที่ควร ทั้งที่ความจริงแล้ว ภาครัฐควรเห็นความสำคัญมากกว่านี้ เพราะตัวเลขผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะผู้สูงวัยในสังคมชนบทที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง ภาครัฐควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้สูงวัยจำนวนมากในชนบทสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ เนื่องจากลูกหลานต้องเข้าไปดิ้นรนต่อสู้แสวงหาโอกาสของชีวิตในสังคมเมืองทำให้ไม่สามารถดูแลบุพการี ปู่ย่าตายาย ที่อยู่ในสังคมชนบทได้มากนัก การดูแลรองรับผู้สูงวัยจากภาครัฐจึงเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะยิ่งสูงวัยมากเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยเหลือตัวเองได้ยากมากขึ้นเท่านั้น จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงผู้สูงวัยที่มากขึ้น บนพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตด้วย
ขณะที่เมื่อวันที่ 28 พ.ค.นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่างบครั้งนี้ให้ผ่านไปไม่ได้ ที่ไม่ให้ผ่าน ไม่ได้เป็นเพราะเราเล่นเกมการเมืองอะไร แต่เป็นเพราะเราเห็นแล้วว่ารัฐบาลจัดงบประมาณโดยไม่เกิดความหวัง เศรษฐกิจไม่ฟื้น ไม่กระตุ้นให้เกิดการผลิต เป็นเพียงการกระจายงบหาเสียงเพื่อซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาล หวังคงสถานะของตัวเอง
“ดังนั้น ครั้งนี้ฝ่ายค้านจะไม่ให้ผ่าน เพื่อให้รัฐบาลกลับไปทำงบประมาณใหม่ ไม่ก็รอให้รัฐบาลใหม่มาทำ เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะสามารถชี้แจงจนเอาชนะใจเราได้ ดังนั้น ขอให้เตรียมชี้แจงไว้ให้ดี” นายสุทินกล่าว
ด้านประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมาและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคมีหมัดเด็ดอภิปรายงบกระทรวงกลาโหมที่เห็นได้ชัดว่าการซื้ออาวุธยังมีอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยจะต้องมีการอภิปรายถึงเรื่องความจำเป็นต่างๆ รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องโควิด-19 เรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่ในการจัดสรรงบประมาณยังไม่ได้ชี้ให้เห็นชัดว่า นำงบประมาณไปเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างไร มีการตั้งงบประมาณโดยราชการ ทั้งนี้ ได้มีการวางตัวผู้อภิปรายหลักในการชี้ประเด็นต่างๆ ประมาณ 10 คน และมีผู้อภิปรายสนับสนุนประมาณ 40 คน