ไม่พบผลการค้นหา
สปสช.จับมือ กทม. 1 พ.ย. บัตรทอง กทม.รักษาที่ไหนก็ได้ สิทธิว่าง 2 ล้านคนไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ พร้อมจัดหน่วยบริการประจำใหม่ให้ใกล้คลินิกเดิมที่สุด

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเสวนา 'ปฏิรูประบบสุขภาพเมืองกรุงแนวใหม่ : สปสช.เปิดเกณฑ์เชิญสถานพยาบาลเข้าร่วมระบบบัตรทอง' โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมอภิปราย

นพ.ชวินทร์ รองปลัด กทม.กล่าวว่า จากการที่ สปสช.ยกเลิกหน่วยบริการปฐมภูมิไป 190 แห่งและกำลังอยู่ระหว่างหาคลินิกมาร่วมให้บริการ ทำให้มีผู้มารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.มากขึ้นประมาณ 50% ดังนั้นก็ต้องขออภัยหากได้รับความไม่สะดวกหรือต้องรอนานขึ้นในช่วงนี้ 

ซึ่งทาง กทม. ได้หามาตรการรองรับต่างๆ เช่น การจ้างแพทย์ที่เกษียณแล้วมาช่วยตรวจ หรือขยายเวลาตรวจให้มากขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาระบบปฐมภูมิใน กทม.ใหม่ ซึ่งในรูปแบบใหม่นี้จะบริหารแบบ Area Base เพื่อให้ผู้บริหารจัดการสามารถรู้สภาวะในพื้นที่และทำโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น เขตสัมพันธวงศ์มีจำนวนผู้สูงอายุเยอะที่สุด การจัดกิจกรรมด้านสุขภาพก็จะจัดให้สอดคล้องกับโรคหรือภาวะสุขภาพและแตกต่างจากเขตอื่นๆ เป็นต้น

รองปลัด กทม.กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันพื้นที่ กทม.มีหน่วยบริการกว่า 4,000 แห่ง เป็นคลินิกเวชกรรมกว่า 2,000 แห่ง คลินิกเฉพาะทางอีกกว่า 200แห่ง ซึ่งทาง สปสช.อยู่ระหว่างเชิญชวนหน่วยบริการเหล่านี้เข้ามา เป็นเครือข่ายร่วมดูแลประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุขในแต่ละเขต ก็จะเป็นแม่ข่ายในการจัดการสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ โดยทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่าย ช่วยแนะนำสนับสนุนการทำงานของคลินิกเหล่านี้ให้อยู่ในระบบที่กำหนด

ซึ่งต้องแยกเรื่องรักษา กับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ในด้านการรักษา คลินิกส่วนใหญ่เน้นเรื่องการรักษาอยู่แล้ว ตอนนี้เราพยายามให้คลินิกเข้ามาในระบบการรักษาก่อน แต่ความหมายของพี่เลี้ยง คือการดึงข้อมูลเข้ามาเพื่อให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.รู้สุขภาวะของประชาชนในพื้นที่และให้คำแนะนำในกรณีที่คลินิกติดขัดหรือมีความไม่เข้าใจบางอย่างเกิดขึ้น ตลอดจนเป็นผู้นำในการจัดการเครือข่ายในการทำกิจกรรมหรือโครงการด้านสุขภาพต่างๆ ด้วย

รองปลัด กทม. กล่าวด้วยว่า นอกจากหน่วยบริการปฐมภูมิแล้วในระบบใหม่จะมีคลินิกเฉพาะทางเข้ามาร่วมเป็นหน่วยร่วมบริการ ประชาชนก็จะสามารถเข้าถึงคลินิกพิเศษเฉพาะทางได้เลยโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอเฉพาะทางในโรงพยาบาล และในส่วนของการส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ กทม.ได้แบ่งพื้นที่เป็น 6 โซนและแต่ละโซนจะมีโรงพยาบาลประจำโซนเพื่อรับส่งต่อประชาชนในกลุ่มเขตนั้นๆด้วย

“กทม.รู้สึกภูมิใจที่มีโอกาสดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน เพียงแต่ที่ผ่านมาศักยภาพของ กทม.เพียงลำพังไม่สามารถครอบคลุมได้หมด เมื่อมี สปสช.เข้ามาหนุนเสริมการทำงาน ก็ทำให้เราสามารถดูแลประชาชนได้ครอบคลุมมากขึ้น” รองปลัด กทม.กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ในอดีตประชาชนต้องไปลงทะเบียนหน่วยบริการประจำกับคลินิกเดียว แล้วไปใช้บริการที่คลินิกนั้นแต่ในระบบใหม่จะเปลี่ยนระบบการทำงานเป็นเครือข่าย คลินิกไม่ได้ทำงานเดี่ยวๆ แล้ว ในเครือข่ายจะมีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.เป็นแม่ข่าย และมีอีก 2 ส่วนอยู่ในเครือข่ายด้วยคือหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งคือหน่วยบริการปกติที่ประชาชนไปลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ และที่เพิ่มเข้ามาคือหน่วยร่วมบริการ เป็นคลินิกที่อาจให้บริการเฉพาะบางช่วงเวลาหรือคลินิกเฉพาะทางต่างๆ ซึ่งเข้ามาเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกัน แล้วประชาชนสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ในเครือข่ายนี้

รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ระบบนี้จะนำร่องในพื้นที่ กทม.ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 โดยช่วงนี้อยู่ระหว่างการรับสมัครคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งคลินิกที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ 2ลักษณะคือเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ หมายความว่าต้องดูแลประชากรในพื้นที่ เช่น ออกไปเยี่ยมบ้าน ไปดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น และอีกส่วนคือหน่วยร่วมบริการ เช่นคลินิกเฉพาะทางหรือเปิดบริการไม่ถึง 56 ชม./สัปดาห์

ขณะเดียวกัน สปสช.ยังปรับระบบการจ่ายเงิน โดยหน่วยบริการปฐมภูมิจะมีวงเงินงบประมาณเหมาจ่ายตามจำนวนประชากรและรับค่าบริการตามการให้บริการที่กำหนด (ree Schedule) ส่วนหน่วยร่วมบริการจะได้เงินจาก สปสช.โดยตรงตามรายการที่ให้บริการแก่ผู้ป่วย โดย สปสช.จะกำหนดราคาในรายการยา เวชภัณฑ์และหัตถการต่างๆ แล้วมาเบิกตรงได้เลย เหมือนที่เคยเก็บจากประชาชน เพียงแต่เปลี่ยนมาเก็บจากสปสช.แทน ดังนั้นในมุมของผู้ให้บริการก็จะสะดวก เพียงสมัครเข้ามา เมื่อมีผู้ไปรับบริการ สปสช.ก็ตามไปจ่ายให้ แต่ในความเป็นเครือข่าย ทางศูนย์บริการสาธารณสุขก็จะลงไปให้คำแนะนำและดูแลเรื่องคุณภาพด้วย

รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประชาชนนั้น ประชาชนที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพใน กทม.มี 3.7 ล้านคน ในจำนวนี้ 1.7 ล้านคนมีหน่วยบริการประจำแล้ว ถ้าอยู่ในกลุ่มนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย ส่วนอีก 2 ล้านคนที่เหลือเป็นสิทธิว่าง เพราะหน่วยบริการประจำถูกยกเลิกไป ขณะนี้สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ แต่ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 จะมีคลินิกใหม่มารองรับ

"ถามว่าประชาชนกลุ่มนี้ วันที่ 1 พ.ย. 2563 ต้องทำอะไรบ้าง ผมขอตอบว่าก็ไม่ต้องทำอะไรเช่นกัน เพราะ สปสช.มีข้อมูลอยู่แล้วว่าเคยลงทะเบียนกับหน่วยบริการประจำไว้ที่ไหน ดังนั้นเมื่อ สปสช.สามารถจัดหาคลินิกรายใหม่มาร่วมเป็นเครือข่ายได้แล้ว เราจะลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ให้ท่านให้อยู่ใกล้คลินิกเดิมมากที่สุด สะดวกที่สุด" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ดังนั้นวันที่ 1 พ.ย. 2563 นี้ 2 ล้านคนนี้ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องวิ่งไปลงทะเบียนที่ไหน สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ ทางหน่วยบริการจะดูให้ว่าหน่วยบริการประจำของท่านอยู่ที่ไหนและสามารถไปรับบริการได้ในครั้งต่อไป หรือจริงๆ ก็ไปรับบริการที่หน่วยอื่นก็ได้ เพียงแต่โดยธรรมชาติของคนเราย่อมอยากไปรับบริการใกล้บ้านและอยากมีหมอประจำครอบครัวเพื่อดูแลให้คำปรึกษาในระยะยาว และถ้าไม่พอใจก็สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้เช่นกัน

รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโรงพยาบาลรับส่งต่อนั้น ในอดีตประชาชนเวลาลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ ก็มักมองไปที่หน่วยบริการรับส่งต่อด้วยว่าจะได้โรงพยาบาลไหน แต่หลังจากนี้อยากให้ประชาชนมองไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านก่อนว่าแทนที่จะไปได้ที่เดียว ก็ไปรับบริการได้ทุกที่ และถ้าจำเป็นต้องส่งต่อก็จะมีโรงพยาบาลรับส่งต่อเบื้องต้น แล้วถ้าโรงพยาบาลรับส่งต่อไม่สามารถรักษาได้ก็จะหาโรงพยาบาลระดับ super tertiary เช่นโรงเรียนแพทย์ มารองรับให้เอง ซึ่งก็ขอเชิญชวนโรงพยาบาลเอกชนด้วย หากมีเจตจำนงค์ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ก็สามารถสมัครเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อได้ โดย สปสช.จะจ่ายอย่างน้อย 8,350 บาท/AdjRW ซึ่งเชื่อว่าจะดึงดูดโรงพยาบาลเอกชนให้เข้าร่วมมากขึ้น